แต่ปัจจุบัน ตลาดใน 6 ประเทศกลุ่มอาเซียน (ASEAN-6) ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนยานพาหนะ 2 หรือ 3 ล้อเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเร็วที่สุด เนื่องจากจักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ และรถจักรยานยนต์ มีราคาไม่สูงมาก และพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จรถแบบพิเศษน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ฐานะที่ร่ำรวยมากขึ้นของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต
รายงานผลการการศึกษาของ EY-Parthenon ได้ประมาณการยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN-6 ว่า จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 16-39% ระหว่างปี 2564 - 2578 และคาดว่าจะมีโอกาสในการสร้างยอดขายต่อปีสูงถึง 80,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหลักทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และยานพาหนะ 2 หรือ 3 ล้อ
นอกจากนี้ รายงานผลการศึกษายังพบว่า ปริมาณการขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 6 ประเทศอาจสูงถึง 8.5 ล้านคันในปี 2578 โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการขายมากเป็นอันดับ 2 จากประมาณการยอดขายต่อปีที่ 2.5 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการขายราว 35,000-42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2578 โดยตามหลังอินโดนีเซีย ซึ่งอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 50% ในประเทศขับเคลื่อนโดยรถไฟฟ้าสองล้อเป็นหลัก (ปริมาณการขายโดยประมาณ 4.5 ล้านคัน และมูลค่าการขาย 26,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
"แม้ว่าที่ผ่านมา การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศในกลุ่ม ASEAN-6 ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แต่ความกังวลของสังคมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของนโยบาย และทัศนคติของผู้บริโภคต่อรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งจูงใจทางการเงินที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศเหล่านี้ ควบคู่ไปกับโครงการและนโยบายระดับชาติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืน และลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง" นายปรีชา อรุณนารา หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี อีวาย ประเทศไทย กล่าว
ตลาด ASEAN-6 มีจุดแข็งและความสามารถหลักที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด แบบ End-to-end ตั้งแต่การแปรรูปวัตถุดิบไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ โดย 6 กลุ่มมูลค่าหลักของธุรกิจนี้ ประกอบด้วย
1) วัตถุดิบและการแปรรูป 2) การผลิตพลังงาน 3) การผลิต การประกอบ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ 4) การผลิตยานยนต์ การขายปลีก และตลาดหลังการขาย 5) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จไฟฟ้า และ 6) ซอฟต์แวร์การจัดการการชาร์จไฟฟ้า
ด้านกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟฟ้า และซอฟต์แวร์การจัดการการชาร์จไฟฟ้า ก็ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในภูมิภาค โดยใช้เงินลงทุนน้อยกว่าและมีศักยภาพที่จะทำกำไรได้มาก นอกเหนือจากความสามารถในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ความพร้อมใช้งานและความสะดวกในการใช้งานของสถานีชาร์จไฟฟ้า ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค เพราะอุปสรรคอย่างหนึ่งในการตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือ การไม่มีสถานีชาร์จเพียงพอ อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นการให้สิ่งจูงใจที่ช่วยสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในตลาดแต่ละประเทศ
เนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ยังค่อนข้างใหม่และมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้เล่นรายเดิมในอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่า โดยรายงานผลการศึกษาของ EY-Parthenon ได้เน้นย้ำถึง 4 ปัจจัยสำคัญ ที่ผู้ประกอบการซึ่งต้องการประสบความสำเร็จในห่วงโซ่คุณค่าของรถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN-6 ควรนำมาพิจารณา ได้แก่
- ประสบการณ์ในธุรกิจ: บริษัทจำเป็นต้องพิจารณาความสามารถ สินทรัพย์ และความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งอาจทำให้มีความได้เปรียบในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่เกี่ยวข้อง
- ความสามารถในการขยายขนาด: บริษัทจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า และเตรียมแผนจัดการให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
- การจัดหาเงินทุน: บริษัทต้องจัดการปัจจัยสำคัญข้อนี้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคเรื่องต้นทุนที่สูงในการเข้าซื้อกิจการขั้นแรก และอัตราการใช้ประโยชน์ช่วงแรกที่ต่ำในหลายส่วนของห่วงโซ่คุณค่าที่เกิดขึ้นใหม่ในประเทศ ASEAN-6
- ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี: จะทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ ซอฟต์แวร์หรือแบตเตอรี่ที่มีลักษณะเฉพาะ และเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า
นายปรีชา กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ที่มีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอยู่มานานกว่า ประเทศกลุ่ม ASEAN-6 อาจเป็นตลาดที่สามารถทำกำไรและมีศักยภาพในการเติบโตสูง จากข้อได้เปรียบหลายประการ รวมถึงการมีสำรองวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ กำลังการผลิตที่มีเพื่อการผลิตรถยนต์ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งหมดนี้ ล้วนน่าสนใจสำหรับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จได้นั้น นักลงทุนจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับตลาดท้องถิ่น กลุ่มมูลค่าที่มีอยู่ ตลอดจนการดำเนินงานที่มีอยู่ภายในห่วงโซ่คุณค่า สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือความมุ่งมั่นในระยะยาว วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน