นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า เป็นการสัมมนารับฟังความคิดเห็น พร้อมนำเสนอข้อสรุปการศึกษาครั้งสุดท้าย โดยจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือนก.พ. 2567 และนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป
สำหรับผลการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ประกอบด้วย
1. ) อัตราค่าโดยสารระหว่างเมือง คำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง แบ่งได้ดังนี้
ชั้น 1 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 1.165 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101 ? 200 กม. ราคา 1.066 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201 ? 300 กม. ราคา 0.981 บาทต่อ กม.
ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.924 บาทต่อ กม.
ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกิน 25% จากความพึงพอใจที่จะจ่าย
ชั้น 2 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.610 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101 ? 200 กม. ราคา 0.525 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201 ? 300 กม. ราคา 0.469 บาทต่อ กม.
ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.420 บาทต่อ กม.
ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกิน 25% จากความพึงพอใจที่จะจ่าย และขึ้นค่าโดยสารเฉพาะตู้นอน
ชั้น 3 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.269 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101 ? 200 กม. ราคา 0.255 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201 ? 300 กม. ราคา 0.200 บาทต่อ กม.
ระยะทาง มากกว่า 300 กม. ราคา 0.181 บาทต่อ กม.
2.) อัตราค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT Standardization (MRT STD) ทั้งค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85) และการขึ้นค่าโดยสารจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค แบบไม่รวมอาหารละเครื่องดื่ม (CPI NFB) กรุงเทพฯ
3.) อัตราค่าโดยสารในเมือง ภูมิภาค 7 จังหวัด มีหลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT STD โดยใช้ CPI NFB รายจังหวัด คือ ค่าแรกเข้า (10.79 ? 12.17 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) (1.94 ? 2.19 บาทต่อ กม.) ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85)
4.) อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เมื่อพิจารณาต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะกำหนดค่าแรกเข้า (95 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) โดยระยะทาง 300 กม. แรก ราคา 1.97 บาทต่อ กม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 1.70 บาทต่อ กม. ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะใช้ CPI NFB ทั่วประเทศ
ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม มีนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น โดยปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน โดยจำนวนผู้โดยสารก่อนเริ่มมาตรการเปรียบเทียบหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย พบว่า มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสาร ในช่วงวันทำงาน และช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ และทำให้ประเมินตัวเลขที่รัฐต้องชดเชยรายได้ของทั้ง 2 สายที่ประมาณ 300 ล้านบาท/ ปี ก็จะลดลงไปด้วย
โดยกรมรางจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อรายงานต่อกระทรวงคมนาคม ตัดสินใจก่อน วันที่ 16 ต.ค. 2567 ที่จะครบ 1 ปี เพื่อให้นโยบายพิจารณาว่าจะใช้มาตรการ 20 บาทต่อไปหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่าในรอบปีต่อไป การชดเชยส่วนต่างรายได้จะลดลงจาก 300 ล้านบาท/ปี ตามสัดส่วนปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่งผ่านมา 3 เดือน หาก อีก 9 เดือน มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เช่น 25% ค่าชดเชยจะลดลง 25% เป็นต้น ซึ่งกรมรางจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาปรับปรุงระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกและกระตุ้นให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มคาดว่าจะเห็นผลในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ขณะที่กรมรางมีแนวคิดในการขยายมาตรการ ค่าโดยสาร 20 บาท กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่จำนวนผู้โดยสารอยู่ในระดับ 4-5 หมื่นคน ไม่มากเกินไป
โดยประเมินว่า รฟม.ยังสามารถนำรายได้ส่วนแบ่งจากสัมปทานสายสีน้ำเงิน มาชดเชยให้ สีเหลืองและสีชมพูได้ ซึ่งจะมีการหารือแนวทางกับกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์หน้า ส่วน สายสีน้ำเงินมีผู้โดยสาร เฉลี่ยกว่า 3 แสนคน/วัน สายสีเขียวมี 7-8 แสนคน/วัน ผู้โดยสารค่อนข้างมาก ดังนั้นการชดเชยอาจจะทำลำบาก
ที่ผ่านมา ระบบรางมีการลงทุนแบบ PPP ทั้งแบบรัฐลงทุนโครงสร้างงานโยธา 70% เอกชนลงทุนระบบและเดินรถซ่อมบำรุง30% หรือให้เอกชนลงทุน 100% ซึ่งเอกชนจึงต้องบวกค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงไปที่ค่าโดยสาร ในขณะที่การขนส่งทางบก รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ก่อสร้างถนน ซ่อมบำรุง รวมไปถึงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอีก โดยช่วง 18 เดือน รัฐอุ้มดีเซลไปเป็นเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท
ดังนั้น ในระยะยาว การศึกษาของกรมรางจึงเห็นว่า ในโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆจากนี้ รัฐควรลงทุนระบบราง 100% เหมือนลงทุนถนน ที่รัฐจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงซึ่งจะเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost รัฐลงทุนหมด 100% แล้วจ้างเอกชนมาเดินรถ ซึ่งจะทำให้รัฐกำหนดค่าโดยสารได้ โดยหลังพ.ร.บ.ขนส่งทางราง...มีผลบังคบใช้ กรมรางจะเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา แต่ประเด็นคือ พอบอกให้รัฐลงทุนระบบราง ขนส่งมวลชนมีคำถาม แต่เวลารัฐจัดงบก่อสร้างถนนหรืออุ้มราคาน้ำมันดีเซลกลับไม่มีคำถาม เรื่องภาระงบประมาณ
นายพิเชฐ กล่าวว่า การจัดทำอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง จะเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. ....ที่ปัจจุบันพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. ....นั้นอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 โดยหลังปิดรับฟังความเห็น กรมฯจะทำบทวิเคราะห์ความเห็น และนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนก.พ. 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 ต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปลายปี 2567
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในเวที เสวนา "โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง" ว่า รัฐควรกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 5-10% ของรายได้ขั้นต่ำและทำเป็นกลไกอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหลักสากลที่หลายประเทศใช้อีกทั้งไม่ต้องมีปัญหากับผู้ให้บริการ โดยไม่มีค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน มีเส้นทางครอบคลุมนอกจากนี้ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงระบบได้ใน 15 นาที หรือ 500 เมตร และมีความถี่ไม่เกิน 15 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วนและ ไม่เกิน 30 นาทีในช่วงนอกเร่งด่วน
ทั้งนี้ภาคประชาชนสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท โดยรัฐบาลทั่วโลกเป็นผู้ลงทุนขนส่งสาธารณะและไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนจ่ายค่าโดยสาร 100% โดยรัฐไม่อุดหนุน เพราะระบบขนส่งมวลชน จะเป็นคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดปัญหา PM2.5 ซึ่งในปี 2566 คนไทยป่วยไปโรงพยาบาลด้วยปัญหา PM2.5 ถึง 1.739 ล้านคน ซึ่วคิดเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณสุบ 1.20 หมื่นล้านบาท ประชาชนเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาลและขาดรายได้ ราว 3,000-5,000 ล้านบาท