นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้พบปะกับ น.ส.วิโอลา อัมแฮร์ท (Viola Amherd) ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ในห้วงระหว่างการประชุม World Economic Forum 2024 โดยได้หารือกันในเรื่องความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ที่มีการเจรจากันมานานแล้ว โดยทั้งสองประเทศมีความตั้งใจที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่สนับสนุนโครงการ E-bus ที่เป็นความร่วมมือของประเทศในการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดปริมาณคาร์บอน และขอให้มีความร่วมมือต่อไป
สำหรับความตกลง ไทย-EFTA จะประกอบด้วย สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้ประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันอีกครั้ง โดยทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของ FTA ซึ่งตั้งเป้าจะเป็น FTA ที่มีรายละเอียดครอบคลุมในทุกมิติ และนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศไทยและประเทศสมาชิก EFTA
นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Tony Blair ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร โดยได้พูดคุยเกี่ยวกับ Tony Blair Institute of Global Change ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อไม่หวังผลกำไร และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของโลก ซึ่งมีความตั้งใจที่จะหาความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human development)
ทั้งนี้ นาย Tony Blair มีความเชื่อมั่นว่า ความการร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรต่างๆ จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อให้ทางสถาบัน Tony Blair Institute of Global Change เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทยเพื่อพัฒนา และต่อยอดในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนาย James Quincey ประธาน และ CEO บริษัท Coca-Cola หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของหรือมีใบอนุญาตแบรนด์เครื่องดื่มมากกว่า 200 แบรนด์ โดยก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริษัท Coca Cola ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และได้มาหารือในประเด็นการใช้ขวดพลาสติก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของมลภาวะ โดยทางบริษัทฯ มีแผนจะขยายการลงทุนในไทย และพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค Regional Hub เพราะตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการค้าการลงทุน ที่จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีความพร้อมทั้งเรื่องภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้เสนอแนวความคิด water resilience ที่จะทำให้การคืนน้ำให้กลับสู่ธรรมชาติ มีปริมาณมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ เพื่อความสมดุลในธรรมชาติ โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมให้ทีมงานของบริษัทฯ เข้ามาทำการศึกษา เพื่อให้ทำโครงการนำร่องในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนาย Jens Petter Olsen ผู้บริหารบริษัท Telenor โดยได้พูดถึงศักยภาพของประเทศไทยที่จะยกระดับ Startup และต่อยอดเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญ และสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริม Startup ของไทยให้ประสบความสำเร็จระดับ Unicorn มากขึ้น
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับนาย Marcus Wallenberg ประธานบริษัท SAAB และประธานกรรมการธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken (SEB) ธนาคารชั้นนำของสวีเดน ซึ่งการพบปะกับนาย Marcus มีความน่าสนใจ เพราะเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถสูง เป็นประธานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของสวีเดนหลายบริษัท ที่ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย เช่น SAAB ABB AstraZeneca พร้อมทั้งมีเครือข่ายการจำหน่ายเครื่องบิน และเรือดำน้ำ โดยนาย Marcus ยินดีสนับสนุนและพิจารณาการขยายการลงทุนต่างๆ ในไทย