นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2567 ว่า ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลายลง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2567 จะอยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% และค่ากลางอยู่ที่ 0.7%
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ที่ผ่านมา สูงขึ้น 1.23% โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาอาหารสด อาทิ ข้าวสารเจ้า ตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น, ไข่ไก่ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น, ผัก-ผลไม้ เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชสำคัญบางชนิดต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลไม้บางชนิดราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ราคาเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกรและน้ำมันพืช ตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการของภาครัฐ
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ทิศทางของเงินเฟ้อในปี 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -0.3 ถึง 1.7% นั้น เป็นอัตราที่ชะลอตัวจากปี 2566 และเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 สินค้าและบริการที่ราคามีแนวโน้มลดลง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จากฐานที่สูงของปีที่ผ่านมา และแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ
กลุ่มที่ 2 สินค้าและบริการที่ราคาคงที่ หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งราคามีแนวโน้มคงที่ เนื่องจากมีการทยอยปรับราคาไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด ผลไม้สด และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยเฉพาะราคาสินค้าทางการเกษตรตามภาวะผลผลิตในประเทศและตลาดโลก ที่ยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์ภัยแล้ง
กลุ่มที่ 3 สินค้าและบริการที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร และเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและจากฐานราคาที่ต่ำในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องฟรีวีซ่า จะสร้างอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการในภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ห้องพักโรงแรม และค่าทัศนาจร ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นเงินเฟ้อในส่วนที่สะท้อนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาครัฐที่ส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่ออัตราเงินเฟ้อ
มาตรการที่ส่งผลโดยตรง ได้แก่
- การตรึงราคาค่าไฟฟ้าเดือนม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วย/เดือน ไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย ส่งผลให้ดัชนีราคาค่ากระแสไฟฟ้าลดลง 4.40% (ส่งผลต่อเงินเฟ้อ -0.17%)
- การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.67 ส่งผลให้ดัชนีราคาน้ำมันดีเซลลดลง -13.23% (ส่งผลต่อเงินเฟ้อร้อยละ -0.39)
- การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม อยู่ที่ 423 บาท/ถัง ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.67 ส่งผลให้ดัชนีราคาก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 2.12% (ส่งผลต่อเงินเฟ้อ 0.01%)
มาตรการที่ส่งผลทางอ้อม ได้แก่
- การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 345 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 2.37% ส่งผลต่อคำสั่งซื้อของผู้บริโภคกลุ่มผู้ใช้แรงงาน (ส่งผลต่อเงินเฟ้อ 0.13-0.25%)
- นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ส่งผลต่อคำสั่งซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่จำกัด (ส่งผลต่อเงินเฟ้อ 0.16 - 0.30%)
- การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งแม้จะยังอยู่ในระดับสูง แต่ภาครัฐได้มีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งน่าจะสามารถทำให้แรงกดดันต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนทยอยคลายตัวลง และส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า ผลของปัจจัยและมาตรการดังกล่าว อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อมากหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภค และการตอบสนองของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่มีความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้ อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการดูแลค่าครองชีพของประชาชนจะติดตาม ดูแล และบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิด ให้ราคาสินค้าและบริการมีความเหมาะสม และไม่สร้างภาระให้กับประชาชน
นอกจากนี้ สนค.ในฐานะหน่วยงานที่จัดทำเครื่องชี้วัดค่าครองชีพและเงินเฟ้อของประเทศ จะพัฒนาเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่หน่วยงานจัดทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน หรือการกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพต่อไป