ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (22-26 ม.ค. 67)ที่ระดับ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุม BOJ และ ECB รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไปและพื้นฐาน (PCE/Core PCE Price Indices) เดือนธ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งที่ 1) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ม.ค. 2567)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,938 ล้านบาทและมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 8,761 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,331 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 430 ล้านบาท)
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับยังไม่มีสัญญาณปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจากธปท. อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับไปอ่อนค่าลงในช่วงที่ เหลือของสัปดาห์ หลังมีสัญญาณว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจมีความล่าช้า ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับการที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. ลงมา
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและดีดตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม