กรมประมงเปิดขอหนังสือรับรองเพื่อนำไปประกอบการขอขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน (ใหม่) กับกรมเจ้าท่า เริ่มตั้งแต่ วันที่ 17 มกราคม ? 15 เมษายน 2567 (รวมระยะเวลา 90 วัน) ณ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล หรือ ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำชาวประมงพื้นบ้านเข้าสู่ระบบสามารถทำการประมงได้อย่างถูกต้องมีกฎหมายคุ้มครองได้รับการดูแลช่วยเหลือจากทางภาครัฐ มีสินทรัพย์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และสร้างรายได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศกว่า 8,232 ล้านบาท
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เห็นชอบให้กรมประมงเร่งดำเนินการออกหนังสือรับรองให้กับชาวประมงพื้นบ้าน สำหรับรายที่ยังมีการตกหล่นไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่คราวก่อน ซึ่งช่วยให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 12,000 ลำ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้สิทธิ์การช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเร่งผลักดันให้เกิดการนำเรือประมงพื้นบ้าน เรือประมงขนาดเล็ก เข้าสู่ระบบ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้รับสิทธิ์จากการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ อาทิ การช่วยเหลือกรณีประสบภัยธรรมชาติฯลฯ อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับความมั่นคงของวิถีการประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งหากมีการนำเรือประมงพื้นบ้านเข้าระบบ จะมีผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น 84,000 ตัน/ปี รวมมูลค่าปีละกว่า 8,232 ล้านบาท
ดังนั้น กรมประมงจึงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2567 โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านยื่นขอหนังสือรับรองได้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ? 15 เมษายน 2567 ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงจังหวัด / สำนักงานประมงอำเภอท้องที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือ ยื่นผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอจดทะเบียนเรือไทยกับกรมเจ้าท่าต่อไปได้ โดยใช้ได้ในกรณีการจดทะเบียนเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และยังไม่มีทะเบียนเรือไทย หรือ เพื่อทดแทนเรือประมงลำเดิมที่ชำรุด สูญหาย อัปปาง
สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขอหนังสือรับรองจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย กรณียังไม่บรรลุนิติภาวะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
2. ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เช่น ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายประมงยังไม่พ้น 5 ปี หรือ ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น
3. ไม่เป็นเจ้าของเรือประมงลำอื่นที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนเรือประมง
4. ต้องมีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ในครอบครองอยู่แล้ว ณ วันยื่นคำขอ
เอกสารหลักฐานประกอบการขอหนังสือรับรอง มีดังนี้
1. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
2. กรณีมอบอำนาจ : หนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
3. กรณีผู้ยื่นขอหนังสือรับรองยังไม่บรรลุนิติภาวะ : หนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้แทนโดยชอบธรรม
4. ภาพถ่ายเรือประมง (ปัจจุบัน) จำนวน 2 รูป คือ ภาพเรือเต็มลำด้านซ้าย 1 รูป และ ภาพเรือเต็มลำด้านขวา 1 รูป
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า นับเป็นโอกาสอันดีของชาวประมงพื้นบ้านที่จะได้เข้ามาอยู่ในระบบการประมงของไทยอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรมเพื่อจะได้รับสิทธิ์การให้ความช่วยเหลืออันพึงจะได้จากทางภาครัฐ จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านรีบมาดำเนินการยื่นขอหนังสือรับรองฯ และนำไปขอขึ้นทะเบียนเรือไทยกับกรมเจ้าท่าให้เรียบร้อย โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร.02-561-2341 , 082-649-7981 , 064-695-3360 หรือ Line : คลินิกประสานงานการขอรับใบอนุญาตทำการประมง , สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเล