เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต นักวิชาการแนะกระตุ้นด้วยผ่อนคลายมาตรการเงินการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday January 21, 2024 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่มีวิกฤต โดยภาพรวมยังฟื้นตัวต่อเนื่องในรูปตัว K บางกลุ่มจึงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจเหมือนมีวิกฤต กลุ่มแรงงานอิสระนอกระบบที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมและมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องอาศัยมาตรการมุ่งเป้าระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาทางการเงินของครัวเรือน ไม่ให้ถูกผลักเข้าสู่กับดักแห่งการเป็นหนี้นอกระบบ

ขณะนี้ยังไม่เห็นวิกฤตเศรษฐกิจฉับพลันรุนแรงในอนาคตอันใกล้ และยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องสองไตรมาส ขณะนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำมาก ยกเว้นเกิดแรงกระทบอย่างรุนแรงจากภายนอก โดยเฉพาะปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ส่วนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเมื่อปี 2563 หรือ ปี 2540-41 นั้นยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ

หากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต้องติดลบและหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลัน มีการล้มละลายของธุรกิจอุตสาหกรรม ปิดโรงงาน สถาบันการเงินล้มและมีคนตกงานจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วในอนาคตอันใกล้ยังไม่มีปัจจัยใดๆ บ่งชี้จะเป็นเช่นนั้น ภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัวแรง คาดการลงทุนจากต่างประเทศปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน ส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง

แม้อัตราการขยายของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะ 4 ปีข้างหน้าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายทางเศรษฐกิจก่อนยุควิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิดในปี 2563 เศรษฐกิจโลกได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการขยายวงของความขัดแย้งทางการทหารในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สร้างความไม่แน่นอนต่อปัญหาสงครามทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซียและหลายประเทศในตะวันออกกลางจะใช้นโยบายกีดกันการค้า (Trade Protectionism) มากขึ้น อาจเกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) ในบางอุตสาหกรรมและสินค้าบางประเภท ประเทศสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันทางการคลัง รายจ่ายสวัสดิการดูแลผู้สูงวัย หลายประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของภูมิอากาศ ขณะเดียวกันผลของดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินช่วงที่ผ่านมาสามารถควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อได้ดี โดยมีผลข้างเคียงทำให้เศรษฐกิจชะลอลง

ทั้งนี้ทุกสังคมทุกระบบเศรษฐกิจต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา ทุกประเทศล้วนต้องการความมีเสถียรภาพทาวเศรษฐกิจ มีการเติบโตยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจนั้นล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องมีหลักประกันไม่ถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจากความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ของภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป รัฐบาลที่ดีจึงต้องสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านระบบประกันสังคมและเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) การให้เป็นเบี้ยยังชีพเป็นครั้งคราว การแจกเงิน จะไม่ได้สร้างระบบเหล่านี้ขึ้น ต้องทำแบบระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงานจึงเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ไว้รองรับเวลาเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายสาธารณะและนโยบายของภาคธุรกิจ การวางแผนการผลิต การลงทุนต่างๆ จำเป็นต้องมีความเข้าใจวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือวงจรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาใดระยะหนึ่ง ปรากฎการณ์นี้เป็นเรื่องปรกติในระบบทุนนิยม เศรษฐกิจนั้นมันมีวงจรของมันอยู่

วัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) ในวัฎจักรหนึ่งๆ อาจกินเวลาตั้งแต่ 1 ปีจนถึง 20 ปี โดยวัฎจักรธุรกิจหรือวงจรเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงระยะเวลา คือ (1) ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือเฟื่องฟู (Economic Expansion) การลงทุน การผลิต การจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ระยะสูงสุด (Peak) ในระยะนี้จะมีขยายตัวและเติบโตต่อเนื่อง โดยผลผลิตของประเทศได้ขยายตัวขึ้นสูงสุด ทำให้การว่างงานจะมีจำนวนน้อยมากหรือไม่มีเลย อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์มวลรวม ระบบเศรษฐกิจจะมีภาวะการจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ปัญหาเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์มวลรวม (2) ระยะเศรษฐกิจถดถอยหรือช่วงหดตัว (Economic Recession or Economic Contraction) เป็นระยะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวหลังจากที่เศรษฐกิจเข้าสู่จุดสูงสุด โดยผลผลิต การลงทุน การจ้างงานของประเทศจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ระยะนี้การว่างงานจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นขึ้นอยู่กับการตกต่ำของเศรษฐกิจนั้นๆว่าก่อให้เกิดปัญหามากน้อยเพียงใด อัตราเงินเฟ้อลดลงจนถึงขั้นติดลบจากอุปสงค์มวลรวมปรับลดลงหรือหดตัว (3) ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (Economic Recovery) ระยะฟื้นตัวหรือเริ่มขยายตัวเป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะต่ำสุด เป็นระยะที่ผลผลิตของประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การว่างงานที่สืบเนื่องมาจากวัฏจักรธุรกิจลดน้อยลงตามลำดับ กิจกรรมการผลิต การลงทุนเริ่มขยายตัวเป็นบวกเพิ่มมากขึ้น และ (4) ระยะถดถอยจนเข้าสู่ระยะต่ำสุด (Trough) เป็นระยะต่อเนื่องจากระยะถดถอยโดยผลผลิตของประเทศจะลดลงจนต่ำที่สุด ระยะนี้จะพบการว่างงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมากที่สุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ เศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงาน การลงทุนทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุด ในระยะนี้เศรษฐกิจอาจเจอภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ได้หากเจอกับปัจจัยลบกระทบรุนแรง

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใช้อธิบายภาวะเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีหลัก คือ ทฤษฎีคลาสสิกและทฤษฎีของเคนส์ ความแตกต่างที่สำคัญของทั้ง 2 สำนักคิด คือ สมมติฐานพฤติกรรมของราคา สำนักคิดคลาสสิกตั้งสมมติฐานว่าราคาสามารถปรับตัวได้โดยสมบูรณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำนักคิดเคนส์เชื่อว่าในระยะสั้นราคาปรับตัวได้ยากหรือช้ามากโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ทฤษฎีของสำนักคลาสสิกเน้นการอธิบายระบบเศรษฐกิจโดยใช้อุปทานหรือความสามารถในการผลิต ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะอธิบายเศรษฐกิจได้ดีในระยะยาว ขณะที่ทฤษฎีของเคนส์ใช้อุปสงค์ซึ่งรวมไปถึงนโยบายด้านการเงินและการคลังอธิบายเศรษฐกิจทำให้สามารถอธิบายและเข้าใจกลไกการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นได้ดีกว่า เพื่ออธิบายความผันผวนของตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค แบบจำลองวัฏจักรธุรกิจแท้จริงได้ปรับปรุงแบบจำลองการเติบโตของสำนักคลาสสิกโดยมีตัวรบกวนทางเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ประชากรในแบบจำลองตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในการเลือกระดับการบริโภคที่เหมาะสมและตัดสินใจในการให้อุปทานแรงงานเพื่อตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แบบจำลองมองว่าตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นผลมาจากการตัดสินใจของผู้บริโภคซึ่งต้องการได้อรรถประโยชน์สูงสุดโดยมีเงื่อนไข คือ ความเป็นไปได้ในการผลิตและข้อจำกัดของทรัพยากรในเศรษฐกิจ ผู้บริโภคมีทุนและให้เช่าทุนแก่บริษัท โดยบริษัทซื้อทุนและแรงงานจากผู้บริโภค และบริษัทใช้ทุนผลิตสินค้า ซึ่งจะถูกนำไปบริโภคหรือลงทุน ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจมาจากตัวรบกวนสุ่ม (Stochastic Shock) ต่อเทคโนโลยีการผลิตของเศรษฐกิจ แบบจำลองวัฏจักรธุรกิจแท้จริงดังกล่าวสามารถหาผลลัพธ์ได้โดยใช้ 2 วิธีที่แตกต่างกัน คือ วิธีดุลยภาพการแข่งขัน (Competitive Equilibrium Approach) และ วิธีปัญหาของผู้วางแผนสังคม (Social Planner Problem Approach)

การเกิดวัฏจักรธุรกิจเป็นธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสินค้าและบริการ มีการเปลี่ยนแปลงในการลงทุน มีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ มีการการขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการผลิตและการจ้างงาน เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนจากมาตรการลดค่าครองชีพและโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย เงินอาจหมุนเวียนเฉพาะในบริษัทที่สามารถออก e-Tax Invoice ได้ การลงทุนภาครัฐเริ่มขยับจากงบประมาณปี 2567 ผ่านรัฐสภาและต้องเร่งใช้จ่าย แต่ในระยะยาวและระยะปานกลาง เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ซึมลงได้จากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การกระตุ้นด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลังมีจำเป็นต่อการรักษาระดับการขยายตัวไม่ให้ลดต่ำลงมาก ส่วนการเติบโตในระยะยาวต้องเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้สูงขึ้น สร้างนวัตกรรมจากการวิจัยเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เราสามารถสำรวจบทเรียนจากวิกฤตในอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเผชิญภาวะเศรษฐกิจแบบกบต้มได้ ความสอดประสานของนโยบายการเงินการคลังมีความสำคัญ

บทเรียนจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี 2540 บอกเราว่า ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในช่วงปี 2539-2540 มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมหภาค นอกเหนือจากนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการการกำกับดูแลสถาบันการเงินแล้ว ยังเกี่ยวพันกับโครงสร้างระบบการเงินและโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความมีเสถียรภาพของระบบการเมืองและความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีภาวะฟองสบู่ เงินเฟ้อสูง แต่มีภาวะอัตราเงินเฟ้อติดลบ อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก ภาวะฟองสบู่ก่อนเกิดวิกฤตปี 40 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าประเทศจำนวนมาก (ส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร) หลังการเปิดเสรีทางการเงินผ่านกิจการวิเทศธนกิจ มีผลให้ปริมาณเงินและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น มีการลงทุนและการบริโภคเกินตัวจนเป็นผลให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังสูงกว่า 7-8% ของจีดีพี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสูงขณะนั้นไม่สามารถชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ กลับยิ่งทำให้กระแสเงินเก็งกำไรไหลเข้ามากขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และอัตราเงินเฟ้อสูงในระบบเศรษฐกิจ

การเดินหน้าของรัฐบาลเศรษฐาในการชักชวนบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยและผลักดันโครงการขนาดใหญ่จะช่วยทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายหลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงได้ และรัฐบาลควรตั้งเป้าหมายให้เกิดขึ้นภายในปี 2575 หรืออีก 9 ปีนับจากนี้จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานสุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมีคนไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆ ในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่องนวัตกรรมของประเทศเป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization) จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (Macroeconomic Variables) จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศที่ไม่สมดุล (Unbalanced Development) ของไทยในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดทวิลักษณะของสังคม ความเหลื่อมล้ำของเมืองขนาดใหญ่และชนบทอย่างชัดเจน การเน้นส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศทำให้เกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เศรษฐกิจฐานรากและบรรดาธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางขนาดย่อมไม่ได้รับผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก ไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือยอีกต่อไป

ขณะเดียวกันไทยเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องหมายทางการค้าของตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดโลกกับประเทศพัฒนาแล้วได้ การปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจจึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจภาคต่างประเทศในระยะยาว ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อให้พ้นภาวะซบเซา และอัตราการการใช้กำลังผลิตต่ำ (Underutilization) ขณะเดียวกันก็มุ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคการผลิตและแหล่งแห่งการเติบโตใหม่ (New Sources of Growth) และสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ