อากาศแปรปรวนฉุดผลผลิตเกษตร-เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 23, 2024 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อากาศแปรปรวนฉุดผลผลิตเกษตร-เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ในปีที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งฉุดภาคเกษตรเสียหายราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในภาคกลาง ขณะเดียวกัน ปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนฉุดเศรษฐกิจไทย เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว พร้อมจับตาความเสี่ยงจากน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังปี 67 แนะ 2 แนวทาง 3 กลไก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร

SCB EIC ระบุว่า ปี 66 เป็นปีที่ไทยต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนค่อนข้างรุนแรงเกือบตลอดทั้งปี โดยในช่วง ม.ค.-ส.ค. หลายภูมิภาคของไทยต้องเผชิญกับปริมาณฝนที่ต่ำกว่าปกติมาก จากอิทธิพลของเอลนีโญ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากในช่วงสองเดือนถัดมา (ก.ย.-ต.ค.) ที่ปริมาณฝนกลับสูงกว่าปกติมาก จากอิทธิพลของร่องมรสุม ซึ่งช่วยหักล้างผลกระทบจากเอลนีโญ โดยการเกิดฝนในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงในช่วงแรกของปี 66 ก่อนจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี

*ภัยแล้ง-น้ำท่วม ฉุดภาคเกษตรเสียหายราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะภาคกลาง

ภาคเกษตรมีความอ่อนไหวต่อปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อย (แล้ง) หรือมาก (ท่วม) เกินไป จะกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชและส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวลดลง โดย SCB EIC ประเมินว่า ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในปี 66 จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไม่ต่ำกว่า 51,700 ล้านบาท

โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นในปี 66 ราว 19,300 ล้านบาท และในปี 67 อีกราว 32,400 ล้านบาท โดยอ้อยเป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องเผชิญกับมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยข้าวนาปรัง ข้าวนาปีและมันสำปะหลัง ส่วนผลกระทบในเชิงพื้นที่พบว่า พื้นที่ภาคกลางจะเผชิญกับความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

"พื้นที่ภาคกลางจะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 24,250 ล้านบาท จากผลผลิตอ้อยและข้าวนาปรังที่เสียหายค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาคเหนือจะมีมูลค่าความเสียหาย 15,934 ล้านบาท จากความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีและข้าวนาปรังเป็นหลัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีมูลค่าความเสียหาย 11,354 ล้านบาท จากผลผลิตอ้อยและข้าวนาปีที่เสียหายมาก สำหรับพื้นที่ภาคใต้จะมีความเสียหายเพียง 165 ล้านบาท จากความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปี" SCB EIC ระบุ
*ปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนฉุดเศรษฐกิจไทย เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว

ความเสียหายภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในปี 66 และต่อเนื่องมายังปีนี้ กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อ โดย SCB EIC ประเมินว่าความเสียหายโดยตรงต่อภาคเกษตรไทย รวมถึงผลทางอ้อมผ่านความเชื่อมโยงของภาคเกษตรกับภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 66 และ 67 ขยายตัวลดลงรวม -0.34 percentag points (pp) เทียบกับกรณีที่ไม่เกิด "ภัยแล้ง-น้ำท่วม" แบ่งเป็น ความเสียหาย -0.13pp และ -0.21pp ในปี 66 และ 67

นอกจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตร และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญกดดันเงินเฟ้อไทยในปี 67 โดยเฉพาะราคาข้าวและน้ำตาล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อราว 5%

SCB EIC ประเมินราคาข้าวและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในปี 67 เพิ่มขึ้นจากผลทางตรงและผลทางอ้อม (Second-round effect) ผ่านการปรับขึ้นราคาของสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) ราว 0.3pp ซึ่งราคาสินค้าที่สูงขึ้นในหมวดข้าว น้ำตาลและสินค้าอาหารที่เกี่ยวข้องจะส่งผลกดดันค่าใช้จ่ายครัวเรือนมากยิ่งขึ้น

*จับตาความเสี่ยงจากน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังปี 67

แบบจำลองสภาพอุณหภูมิน้ำทะเลโลก คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (แล้ง) จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 67 และมีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (น้ำมาก) ในช่วงเดือน ก.ย. 67 ข้อมูลของสถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะร้อนแล้ง มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 67 โดยความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญในเดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ 84% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 46% ในเดือน พ.ค. 67 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าความน่าจะเป็นที่สภาพอุณหภูมิน้ำทะเลโลกจะอยู่ในสภาวะเป็นกลาง (53%)

ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าว ซึ่งทำให้สภาพอากาศในไทยอยู่ในภาวะปกติ คาดว่าจะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. หลังจากนั้น ในเดือน ก.ย. โลกมีโอกาสที่จะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา ด้วยความน่าจะเป็น 52% ซึ่งสูงกว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญหรือสภาวะเป็นกลางค่อนข้างมาก

โดยปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ฝนในไทยตกมากกว่าปกติ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ดังที่เคยเกิดขึ้นล่าสุดในปี 65 และรุนแรงสุดในปี 54 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์สภาพอากาศในระยะไกลยังมีความแม่นยำต่ำ ดังนั้น จะต้องพิจารณาความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอีกครั้งในช่วงเดือน พ.ค. ปีนี้

*แนะ 2 แนวทาง 3 กลไก สร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร

มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งในปีนี้และในระยะต่อไปในอนาคต ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอีก ดังนั้น การเตรียมการเพื่อรับมืออย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็น

SCB EIC เสนอ 2 แนวทาง พร้อม 3 กลไก ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร ดังนี้

1. แนวทางยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการปริมาณน้ำ (Supply) ผ่านการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (Water infrastructure) ต่างๆ โดยในระยะสั้นอาจเน้นลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น สระน้ำ ในขณะที่ในระยะยาวอาจพิจารณาลงทุนในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และระบบท่อส่งน้ำ

2. แนวทางยกระดับประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Demand) ด้วยมาตรการรักษาความชื้นในดิน การปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำและกระบวนการเพาะปลูกพืช เช่น การเลื่อนเวลาการเพาะปลูกพืช ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตาม 2 แนวทางดังกล่าวจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย 3 กลไกช่วยสนับสนุน ดังนี้

  • กลไกเชิงนโยบาย เช่น การเร่งออกกฎหมายลูก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ การเพิ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ หรือการให้เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านน้ำ (Water tech)
  • กลไกทางการเงิน เช่น การเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผล
  • กลไกการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผ่านการเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเก็บ เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยแนวทางและกลไกดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและเกษตรกร ซึ่งหากทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการจัดการน้ำได้ ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคเกษตรไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ