กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย" พบนักลงทุนไทยแห่จัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 8.5 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท ขณะที่ต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทย แตะ 1.3 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นนำโด่งเบอร์ 1
สำหรับในปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557-2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้น 8,812 รายจากปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 12% คิดเป็นมูลค่าทุน 562,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132,640 ล้านบาท จากปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 31% (ปี 2565 จัดตั้ง 76,488 ราย ทุน 429,828 ล้านบาท)
โดยเป็นการจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบ บริษัทจำกัด 72,139 ราย (84.57%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 13,086 ราย (15.34%) และบริษัทมหาชนจำกัด 75 ราย (0.09%) โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก SMEs จำนวน 85,233 ราย (99.92%) และขนาดใหญ่ L จำนวน 67 ราย (0.08%)
สำหรับธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้ง สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 6,524 ราย (7.65%) ทุน 13,236.72 ล้านบาท (2.35%)
2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6,393 ราย (7.49%) ทุน 29,289.12 ล้านบาท (5.21%)
3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 4,001 ราย (4.69%) ทุน 8,046.23 ล้านบาท (1.43%)
4. ธุรกิจให้คำปรึกษา 2,046 ราย (2.40%) ทุน 4,034.23 ล้านบาท (0.72%)
5. ธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ 1,943 ราย (2.28%) ทุน 6,413.98 ล้านบาท (1.14%)
6. ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 1,713 ราย (2.01%) ทุน 2,270.84 ล้านบาท (0.40%)
7. ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร 1,643 ราย (1.93%) ทุน 2,693.93 ล้านบาท (0.48%)
8. ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้าทั่วไป 1,484 ราย (1.74%) ทุน 2,009.29 ล้านบาท (0.36%)
9. ธุรกิจจัดนำเที่ยว 1,419 ราย (1.66%) ทุน 2,702.58 ล้านบาท (0.48%)
10. ธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป 1,084 ราย (1.27%) ทุน 3,719.92 ล้านบาท (0.66%)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์การจัดตั้งนิติบุคคลปี 2566 พบว่าจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 12% ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งธุรกิจภาคบริการ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคการผลิต
- ภาคบริการ คิดเป็น 58% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจกิจกรรมเกี่ยวกับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 366 ราย เติบโต 1.46 เท่า ธุรกิจกิจกรรมของสำนักงานจัดหางาน หรือตัวแทนจัดหางาน 43 ราย เติบโต 1.39 เท่า และธุรกิจกิจกรรมบริการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 707 ราย เติบโต 1.36 เท่า
- ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก คิดเป็น 32% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด มีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน บนแผงลอยและตลาด 16 ราย เติบโต 2.20 เท่า ธุรกิจการขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช 203 ราย เติบโต 1.51 เท่า และธุรกิจการขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต 66 ราย เติบโต 1.06 เท่า
- ภาคการผลิต คิดเป็น 10% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการผลิตเครื่องมือกล 18 ราย เติบโต 2.60 เท่า ธุรกิจการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 17 ราย เติบโต 2.40 เท่า และธุรกิจการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ 88 ราย เติบโต 1.59 เท่า
จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%)
หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%) โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566
โดยพื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในกรุงเทพฯ ปี 2566 พบว่า เขตที่มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เขตวัฒนา 1,632 ราย 2. เขตห้วยขวาง 1,277 ราย และ 3. เขตคลองสามวา 993 ราย โดย 3 อันดับที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปี 2565 ได้แก่ 1. เขตธนบุรี เติบโต 51.61% 2. เขตห้วยขวาง เติบโต 51.48% และ 3. เขตพระโขนง เติบโต 32.01%
ทั้งนี้ 5 ธุรกิจที่น่าสนใจ และมีการอัตราการเติบโตของการจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2. ธุรกิจผับบาร์สถานบันเทิง 3. ธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ 4. ธุรกิจเกม ของเล่น โมเดลสะสม และ 5. ธุรกิจจัดหางาน
ส่วนการเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566 พบว่า มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้น 1,500 ราย จากปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 7% มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,008 ล้านบาท จากปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 26% (ปี 2565 เลิกประกอบธุรกิจ 21,880 ราย ทุน 127,048 ล้านบาท)
โดยประเภทธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,166 ราย (9.26%) 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย (4.90%) 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เลิกประกอบธุรกิจ 699 ราย (2.99%)
"จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้ง และการเลิกประกอบกิจการ พบว่าจำนวนการจัดตั้งธุรกิจมีการเพิ่มสูงขึ้นและมีทิศทางในทางบวกอย่างชัดเจน โดยการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการไม่ได้สูงกว่าปกติ หรือแตกต่างจากในปีก่อนๆ มากนัก" นางอรมน กล่าว
ขณะที่ชาวต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แตะ 1.3 แสนล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยม อันดับ 1 บริการรับจ้างผลิต อันดับ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ และอันดับ 3 บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ ทั้งนี้ พบว่า ญี่ปุ่นนำโด่งครองแชมป์อันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและเงินที่นำเข้ามาลงทุน
พร้อมคาดว่า ในปี 2567 จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยบวกด้านต่างๆ เอื้อและสนับสนุนให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศลงทุนเพิ่ม จะทำให้มียอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศแตะ 9.5 หมื่นราย ต่างชาตินำเงินเข้าลงทุนในไทย ทะลุ 1.4 แสนล้านบาท