KBANK สวนทางตัวเลขคลัง เก็ง GDP ไทยปี 66 โตได้ถึง 2.5% ก่อนเร่งตัวเป็น 3.1% ปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2024 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KBANK สวนทางตัวเลขคลัง เก็ง GDP ไทยปี 66 โตได้ถึง 2.5% ก่อนเร่งตัวเป็น 3.1% ปี 67

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.5% ก่อนเพิ่มเป็น 3.1% ในปี 67 แต่หากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะโตได้ 3.6% ซึ่งแตกต่างจากเอกสารกระทรวงการคลังที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 น่าจะขยายตัวได้เพียง 1.8% และจะเร่งตัวไปที่ 2.8%ในปี 67

KBANK มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15% โดยมีปัจจัยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก, เศรษฐกิจจีนอ่อนแอ ส่งผลเสียต่อดุลการค้าไทย การพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น จำกัดการเติบโตในระยะยาว, การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกระทบต่อค่าเงินบาท โดยมีแนวโน้มอยู่ที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้

KBANK สวนทางตัวเลขคลัง เก็ง GDP ไทยปี 66 โตได้ถึง 2.5% ก่อนเร่งตัวเป็น 3.1% ปี 67

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงาน "วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ปี 2567" ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 67 คาดว่าจะเติบโตได้ 2.6% ลดลงจากปี 66 ที่ขยายตัวได้ 3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของโลกในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 4.3% ชะลอตัวลงจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 6%

โดยเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับหลายความท้าทาย ทั้งจากผลของการที่ธนาคารกลางประเทศหลัก ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อสูงในช่วงปีที่ผ่านมา ตลอดจนภาวะสงคราม ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากผลกระทบของปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ 3.1% (แต่ถ้ารวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปี 66 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% การส่งออก ขยายตัว 2% การนำเข้า ขยายตัว 2.6% เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 9.3 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 30.6 ล้านคน

นายกอบสิทธิ์ มองว่า การที่เศรษฐกิจไทยในรอบ 10 ปีเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เป็นผลจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยมีสัดส่วนที่ลดลง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 โดยปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน อยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี โดยไทยขาดการลงทุนใหม่ๆ ขนาดใหญ่ต่อเนื่องมานาน ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิในปีที่ผ่านมา

"หลังจากที่ฟองสบู่แตก การลงทุนในบ้านเราก็มีอัตราที่ต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 18% ของจีดีพี ไม่ได้มีการขยายการลงทุนใหญ่ๆ หรือขยายนวัตกรรมใหม่ๆ...ซึ่งในปีก่อน ที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่า การจะหาอะไรใหม่ๆ ที่มาช่วยขับเคลื่อนการทำกำไรมีน้อยลง" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

พร้อมมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ต้องพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เหมือนผูกดวงไว้กับการท่องเที่ยวอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคระบาด ปัญหาสงคราม และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวประสบปัญหาและมีผลกระทบมาถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้

นายกอบสิทธิ์ กล่าวถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับประเทศอื่น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดการลงทุนในส่วนของเอกชน การจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ไม่ได้เป็นการต่อยอดการลงทุนที่แท้จริง เปรียบเหมือนเป็นการเอาเศรษฐกิจอนาคตมาใช้วันนี้ ดังนั้นที่จำเป็นต้องทำจริงๆ คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะถ้าพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียว เศรษฐกิจก็จะดีแค่ช่วงไฮซีซั่น คือ ไตรมาส 4 กับไตรมาส 1 ดังนั้น จะต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการผลิตสินค้าที่สามารถเพิ่มมูลค่าและต่อยอดได้ เราอาจจะต้องลอกการบ้านเวียดนาม คือ ความพยายามในการทำ FTA กับประเทศต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ดี นายกอบสิทธิ์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จำเป็นต้องพึ่งพาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลหรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า เป็นเรื่องทางการเมือง แต่การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ควรจะต้องมีแผนกระตุ้นในระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทย เพื่อให้กลับมาเป็นที่ได้รับความสนใจจากตลาดโลกมากขึ้น

นายกอบสิทธิ์ ยังกล่าวถึงทิศทางเงินทุนที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วงก่อนที่ธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยนั้น อาจจะยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่สร้างแรงจูงใจที่จะทำให้ต่างชาติซื้อหุ้นไทย โดยอาจจะต้องรอดูในช่วงปลายไตรมาส 2 หากเฟดลดดอกเบี้ยได้ในช่วงนั้น ก็เชื่อว่าจะมีสัญญาณดีขึ้น และน่าจะมี flow ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นฝั่งเอเชียได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เงินทุนต่างชาติก็ยังมีโอกาสจะไหลออกได้ หากมีความชัดเจนว่า GDP ในปี 66 เติบโตได้ไม่ถึง 2% เพราะถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ต่ำ ความสามารถในการทำกำไรก็อาจจะลดลง และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต่างชาติอาจจะขายหุ้นไทยต่อ

นายกอบสิทธิ์ ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งสิ่งที่จะเป็นปัจจัยให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศปรับลดดอกเบี้ยลง คืออัตราเงินเฟ้อที่แผ่วลง

"สายเหยี่ยว (ขึ้นดอกเบี้ย) น่าจะจบลงแล้ว แต่สายพิราบ (ลดดอกเบี้ย) จะมาแทน โดยสิ่งที่เอื้อให้ธนาคารกลางโลกปรับดอกเบี้ยลง คือ เงินเฟ้อแผ่ว" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่มองว่าเงื่อนไขที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะกลับทิศมาเป็นปรับลดลงได้นั้น นายกอบสิทธิ์ มองว่า มาจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่าจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ หรือไปอยู่ใกล้เคียงระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ โอกาสที่จะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยก็จะมีมากขึ้น

"ถ้าเงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ และไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 33 บาท/ดอลลาร์ โอกาสที่จะลดดอกเบี้ยก็มีมากขึ้น ถ้าเงินบาทแข็งค่ามาก คนใน 2 อุตสาหกรรมนี้ คือ ท่องเที่ยว และส่งออก ก็จะออกมาเรียกร้องไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป เพราะการที่เงินบาทแข็งค่ามาก จะเป็นการลดสภาพคล่องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่งออก" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ KBANK ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2567 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ