สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 ขยายตัว 1.8% และ 2.8% ตามลำดับ เป็นไปตามที่มีเอกสารหลุดออกมา โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัวชะลอลงจาก 2.6% ในปี 65
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ยืนยันตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ขยายตัวได้ 1.8% โดยเป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว โดยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากจะให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% นั้น ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1.4% เท่านั้น
"ไตรมาส 4/66 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่เราเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ในเดือน พ.ย. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวที่ -4.7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23, คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติก หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 เป็นต้น โดย สศค. นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบยันทุกทางแล้ว" นายพรชัย กล่าว
ส่วนปี 2567 กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3%) โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
พร้อมกันนี้ คาดว่าการส่งออกในปี 67 จะขยายตัวได้ 4.2% ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 33.5 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 1.48 ล้านล้านบาท
"เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะเติบโตได้ 2.8% โดยแรงขับเคลื่อนจะมาจากภาคการส่งออกที่จะกลับมาชัดเจนขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และมีการจับจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ภาคการต่างประเทศจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้" นายพรชัย กล่าว
ส่วนการที่เศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัวได้เพียง 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขอให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัว และติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
นายพรชัย กล่าวถึงกรณีเอกสารประมาณการเศรษฐกิจไทยที่หลุดไปก่อนหน้านี้ ว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว โดยปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ทำเอกสารชี้แจงตามระเบียบราชการ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจ 1.8% ก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่มาใช้พิจารณากัน มีการสอบยันข้อมูลว่าตัวเลขนี้ทำด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นการปรับลดที่ค่อนข้างมากจากคาดการณ์ครั้งก่อน
"ไม่รู้ว่าเอกสารหลุดไปทางไหน ไม่รู้จริง ๆ โดยในส่วนการทำงานของ สศค.นั้น ยืนยันว่าเรายังทำงานด้วยการยึดหลักวิชาการ ตัวเลขที่ชี้แจงมามีเหตุและผล ดำเนินการด้วยความรอบคอบ การทำงานของเราต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความชัดเจน จึงมีการแถลงข่าวอย่างละเอียด พยายามอธิบายให้ดีและมากที่สุด โดยความน่าเชื่อถือของ สศค.นั้น ยังเป็นความเชื่อถือที่วงการวิชาการและราชการให้การยอมรับ" นายพรชัย กล่าว
ด้านนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า 5 สมมติฐานสำคัญในการประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ประกอบด้วย
1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก : คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ชะลอตัวลงจากปี 66 ที่ขยายตัวได้ 3.1% ในขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป
2. อัตราแลกเปลี่ยน : คาดว่าทั้งปี 67 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34.40 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 1.2% จากในปี 66 ที่เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 34.81 บาท/ดอลลาร์ โดยในปี 66 เงินบาทผันผวนมากสุดในรอบ 15 ปี จากผลของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศหลัก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จากการที่ตลาดจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนและตลาดพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และหันมาหาตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้นช่วงปลายปี
3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ : คาดว่าในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 82 ดอลลาร์/บาร์เรล ใกล้เคียงกับในปี 66 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 81.9 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย.66 หลังโอเปคปรับลดกำลังการผลิต รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งในทะเลแดง ซึ่งคาดว่าจะเป็นแค่ผลกระทบในระยะสั้น
4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ : ในปี 67 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 33.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 28.2 ล้านคน โดยรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2% จากปีก่อน และคาดว่าค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป จะขยับขึ้นเป็น 44,273 บาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน
ทั้งนี้ ต้องติดปัจจัยที่จะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว เช่น ภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาไทย ตลอดจนผลของมาตรการยกเว้นวีซ่า การฟื้นตัวของสายการบิน อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 67 จะมีจำนวนทักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 6 ล้านคน
5. รายจ่ายภาคสาธารณะ : จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 92.3% โดยคาดว่างบรายจ่ายประจำ จะเบิกจ่ายได้ 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.5% ส่วนงบรายจ่ายลงทุน คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ส่วนงบเหลื่อมปี คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 93% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 94% ทั้งนี้ คาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จะมีการอนุมัติล่าช้าไปราว 7 เดือน หรือสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนเม.ย.67
ขณะที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ที่ 3.6 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 94% โดยงบรายจ่ายประจำ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.1% งบรายจ่ายลงทุน 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 74% งบเหลื่อมปี 2.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 95% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 74%