"พิมพ์ภัทรา" เร่งปลุกภาคอุตสาหกรรมไทย ชี้ EV ออร่าจับ รับเทรนด์ใหม่โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2024 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา "Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส" ว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม คือการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกระทรวงสำคัญกระทรวงหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่มองว่าอุตสาหกรรมไทยยังเป็นเหมือนเสือหลับ ดังนั้นจึงต้องพยายามกระตุ้นให้เสือตื่น

ซึ่งตลอดที่ผ่านมา นายรัฐมนตรีได้พยายามไปโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อให้รู้ถึงความพร้อมของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบทำงานได้ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สามารถดำเนินกิจการได้อย่างสะดวก และที่สำคัญต้องลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศแล้ว จะต้องรักษาผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพราะจะส่งผลไปยัง SME ทั้งหมด สิ่งสำคัญพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ยอมส่งผลต่อผู้ประกอบการ SME เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เปลี่ยนจากสันดาปไปเป็นอีวี และความยากที่สุด คือ ทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนยังอยู่ หรือปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ให้ได้

ทั้งนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะรวบรวมว่า มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นอีวี มีกี่ราย และส่งสัญญาณให้ทราบว่าต้องมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งภาครัฐมีเงินสนับสนุนผ่าน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในส่วนอุตสาหกรรม S-curve ที่มีโอกาสมากสุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออีวี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญทั้งระบบ ตั้งแต่การนำเข้า การผลิต เรื่องแบตเตอรี่ และยังมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้ผลิตในเมืองไทย ผลิตยุปโธปกรณ์และส่งออกได้ เป็น S-curve อีกตัวที่ควรส่งเสริม แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆด้วย ส่วนอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังมีปัญหา เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเหล็ก ก็จะมีการส่งสัญญาณ และเตือนเพื่อให้ปรับตัวต่อไป

ด้านนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยเปรียบเสมือนเด็กดีมาตลอด เราอยู่ในห้องเรียนที่มีเพื่อนมาก แต่ไม่มีความสำคัญในเวทีโลก ซึ่งบทบาทใหม่ของกระทรวงต่างประเทศ คือ ต้องมีจุดยืนที่เป็นกลาง แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องเผชิญกับอุปสรรคกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดในปีนี้ ตั้งแต่เรื่องสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สงครามการค้า หรือการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องและกระทบกับเศรษฐกิจไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ บทบาทของกระทรวงต่างประเทศ จะเป็นด่านหน้าในการเข้าไปเจรจาให้ก่อน ไปเปิดประตูให้กับทุกคนให้เห็นว่า ประเทศเปิดแล้วและพร้อมรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจะต้องประสานกับทุกกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงต่างประเทศ คือ การกลับมามีที่ยืนในเวทีโลก นอกเหนือจากงานด้านการทูตแล้ว ต้องเพิ่มเรื่องการค้า (trade Volume) ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ เป็นอีกช่องทางที่ทำให้นำเงินกลับประเทศไทยได้ เช่น ในฝั่งแอฟริกาใต้ ภายในสิ้นปีหน้า ควรจะมี Trade Volume ประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ

นายจักรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการได้เดินทางไปแอฟริกาใต้ พบว่า ยังมีความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์จากไทย ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับเรื่องความท้าทายในด้านต่างๆ กระทรวงต่างประเทศต้องมีการปรับตัว ซึ่งมีการคุยแผนแต่ละอย่างไว้ เช่น ผลการเลือกตั้งของสหรัฐ หากพรรคใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้า และการเดินแผนเชิงรุกกับประเทศมหาอำนาจนั้น นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ไทยจะไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ในเรื่องเศรษฐกิจต้องส่งเสริมให้ไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนการทำ FTA ที่ปัจจุบันมี 14 ฉบับและได้วางแผนกับกระทรวงพาณิชย์ ต้องมีการเจรจาเพิ่มอีก 12 ฉบับ

โดยจากการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ พบว่าสิ่งที่นักลงทุนสนใจคือ ไทยมี FTA กับประเทศใดบ้าง โดยจะเริ่มเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปเป็นอันดับแรก โดยหวังว่าในจบภายใน 18 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมแผนเจรจา FTA กับออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และภูฏาน

ขณะที่เรื่องฟรีวีซ่านั้น จะมีการดำเนินการเรื่องฟรีวีซ่ากับอีกหลายประเทศ เช่น ฟรีวีซ่ากับสหราชอาณาจักร (UK) โดยได้มีการพูดคุยกับทูตถึงความเป็นไปได้แล้ว โดยหวังให้วีซ่าไทยเข้าไปติดอันดับโลกให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ