ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2567 อาจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ 2.0% โดยมีผลมาจากปัจจัยฐานอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังมีปัจจัยบวกจากการเริ่มฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบวัฎจักร และสินค้าอาหารที่ยังมีแรงหนุนจากฝั่งอุปสงค์รวมถึงราคาสินค้าที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงแต่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า อีกทั้ง สินค้าที่สอดคล้องกับกระแสสิ่งแวดล้อมยังมีความโดดเด่น อาทิ โซลาเซลล์
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่อาจเข้ามากดดัน ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การผันผวนของค่าเงิน สภาพอากาศที่แปรปรวน และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ในขณะนี้ยังไม่คลี่คลายทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส โดยเฉพาะความขัดแย้งในทะเลแดงที่อาจมีความยืดเยื้อและขยายวงกว้างเป็นระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากเหตุโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสุเอซอันเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก เชื่อมการขนส่งทางน้ำระหว่างตลาดเอเชียและยุโรป แม้ในขณะนี้อาจยังไม่เห็นผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกที่ชัดเจนนัก แต่เริ่มเห็นสัญญาณของต้นทุนการขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าระวาง และค่าประกันภัย แต่ยังต่ำกว่าช่วงโควิด-19 ที่เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าก็มีความล่าช้าขึ้นเพราะเรือต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อก็อาจส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งปรับเพิ่มขึ้นอีก และส่งผลให้ประเทศคู่ค้าชะลอการนำสินค้าจากไทย ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ไทยได้ส่งออกไปยังตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และสินค้าอาหาร เช่น อาหารทะเลแปรรูป ข้าว เป็นต้น
สำหรับการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2566 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 4.7%YoY ซึ่งส่งผลให้การส่งออกไทยในไตรมาสที่ 4/2566 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส จากปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในปีนี้ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดคู่ค้ารองของไทยได้มากขึ้น อาทิ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรเผชิญกับการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนตามแรงสนับสนุนจากการส่งออกผลไม้ที่ลดลงหลังสิ้นสุดฤดูกาล ดังนั้น จึงส่งผลให้ภาพรวมในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 284,561.8 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -1.0% ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้าที่ 289,754.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -3.8% ส่งผลให้ไทยยังคงเผชิญกับการขาดดุลทางการค้า (ตามระบบกรมศุลกากร) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ 5,192.5 ล้านดอลลาร์ฯ