กรมการขนส่งทางราง เผยวันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 67 หลังมีนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย มีประชาชนใช้บริการสายสีแดงเพิ่มขึ้นสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดให้บริการเดินรถมา
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 2567 หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดง 35,463 คน-เที่ยว (รวมผู้ใช้รถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 111 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,742,807 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 212 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 83,132 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,308 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 53,824 คน-เที่ยว
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,659,675 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 77,223 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 35,463 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 111 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ) (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 145 คน-เที่ยว) (นิวไฮสายสีแดงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จำนวน 34,719 คน-เที่ยว)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 321 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 79,996 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 488 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 36 เที่ยววิ่ง) จำนวน 512,685 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,240 เที่ยววิ่ง จำนวน 847,525 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 170 เที่ยววิ่ง จำนวน 7,102 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,479 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูให้บริการ 384 เที่ยววิ่ง จำนวน 59,202 คน-เที่ยว
นายพิเชฐ กล่าวว่า ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้ว พบว่า มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้สั่งการให้มีการจัดระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสานบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะมาร่วมงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีบางเขน และรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากดังเช่นปีที่ผ่านมา