นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในปี 67 มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 4 ประเด็น
1. เศรษฐกิจโลกกำลังจะเติบโตสวนทางกัน (Growth divergence) เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีทิศทางชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาที่จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับเผชิญกับปัญหาชะลอตัว
2. อัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดสูงสุดและเริ่มปรับตัวลดลง เงินเฟ้อโลกเริ่มปรับลดลง ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีความแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากไม่ได้นัก
3. การเมืองระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอน และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสงคราม และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
4. เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวช้าและจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นยังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 2.5% เกือบตลอดทั้งปี แต่มีโอกาสปรับลดลงได้หากการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ หรือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้
นอกจาก ประเด็นระยะสั้นแล้ว ยังมีปัญหาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมื่อผ่านไปเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติ แต่หลังจากผ่านวิกฤตมาประมาณ 2 ปี เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับที่เดิม และฟื้นตัวได้ได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญก่อนโควิด-19 ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปได้ที่จุดเดิมจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป ขณะที่การส่งออกที่เดิมไทยเคยอาศัยห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างจีนเป็นประตูสู่ตลาดโลก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง ไทยทั้งไม่สามารถขยายตัวในห่วงโซ่อุปทานโลก และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสินค้าหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
พร้อมกันนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศยังมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาสังคมสูงอายุและกำลังแรงงานที่กำลังถดถอย ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่สะสมมาตลอดหลายทศวรรษ และการลงทุนที่หายไปเกือบ 30 ปีหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
"เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกว่ามาถึงจุดพลิกผัน สิ่งที่สำคัญกว่าอาจจะไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไรหรือจะแก้ไขอย่างไร แต่อาจจะเป็นการหาฉันทามติร่วมกันของสังคมว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร และเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลา อาจจะหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผล"
กรณีตัวอย่างเช่นการปฏิรูปเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคของนายชินโสะ อะเบะ นายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2006-07 และ 2012-20 ที่นำเสนอนโยบาย "ลูกศร 3 ดอก" ที่เน้นไปที่นโยบายการเงิน นโยบายการคลังที่เน้นการสร้างความเชื่อมั่น และการนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งด้านตลาดแรงงาน การเกษตร การกำกับดูแลบริษัท ด้านกฎระเบียบต่างๆ การแข่งขันของเอกชน การขึ้นภาษีบริโภค และการนำญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลงการค้า กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัว โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว นายกอะเบะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจหลายครั้ง เพื่อสร้าง "ฉันทามติทางการเมือง" เพราะมีคนทั้งได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์นโยบายปฏิรูป