ดัชนี MPI ธ.ค.66 หดวูบ 6.27% ผลจากดีมานด์รถยนต์-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 31, 2024 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนี MPI ธ.ค.66 หดวูบ 6.27% ผลจากดีมานด์รถยนต์-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 87.76 หดตัว 6.27% (YOY) ขณะที่ในปี 66 ดัชนี MPI อยู่ที่ระดับ 93.05 ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยทั้งปี หดตัว 5.11% เหตุจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนธ.ค. 66 อยู่ที่ 55.25% และทั้งปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.06%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนี MPI เดือนธ.ค. หดตัวจากปัจจัยสำคัญ ดังนี้

ดัชนี MPI ธ.ค.66 หดวูบ 6.27% ผลจากดีมานด์รถยนต์-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอ
  • การผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 5 โดยมาจากการหดตัวภายในประเทศเป็นหลัก
  • หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
  • การปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 66 และ 67 ลดลงจากปัจจัยกดดันเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญ ทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว
  • จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยในปี 66 ที่ภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมาย แต่นักท่องเที่ยวจีนยังมาน้อยกว่าที่คาดการณ์
  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 โดยในเดือนธ.ค. มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.95% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ดัชนี MPI ธ.ค.66 หดวูบ 6.27% ผลจากดีมานด์รถยนต์-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอ

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก มีดังนี้

1. การกลั่นน้ำมัน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้มเป็นหลัก ตอบสนองการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปีก่อนโรงกลั่นเริ่มกลับมาผลิตได้ปกติ หลังหยุดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า

2. สายไฟฟ้า ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ หลังได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐ และความต้องการใช้ในภาคเอกชนขยายตัว

3. กระดาษคราฟท์ และเยื่อกระดาษ ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากปีก่อน ทำให้มีการเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลลบ ได้แก่

1. รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-30.66%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น ประกอบกับราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่

2. น้ำตาล จากการเปิดหีบช้ากว่าปีก่อน 10 วัน รวมถึงมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตัดอ้อย บางโรงงานจึงเลื่อนการเปิดหีบออกไป ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อน

3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นไปตามทิศทางความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ทั้งปี 66 ได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน, น้ำตาล และสายไฟ ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง, ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์

ทั้งนี้ สศอ. ยังคงคาดการณ์ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 67 ว่าจะขยายตัวที่ 2-3% ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล

*เดือนม.ค. 67 สัญญาณเฝ้าระวัง จับตาปัจจัยหลายด้าน

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนม.ค. 67 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง" โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศ จากดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง การลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับเพิ่มเล็กน้อย

ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญทั้ง อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว

*ความสามารถการแข่งขันของไทยเริ่มมีปัญหาเทียบอาเซียน

นางวรวรรณ กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของไทย กับประเทศในอาเซียน พบว่า สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ คือสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้น (มูลค่าไม่สูง) และสินค้าที่ได้อานิสงส์จากฐานการผลิตในไทยที่มาจากการลงทุนในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการโลกในปัจจุบัน

ขณะที่ประเทศเวียดนามและมาเลเซีย มีส่วนแบ่งในตลาดโลกในสินค้าที่โลกมีความต้องการมาก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่ฟิลิปปินส์ มีศักยภาพในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไทย ส่วนอินโดนีเซีย มีศักยภาพในกลุ่มน้ำมันปาล์ม ยาง เหล็ก โลหะอื่นๆ (นิกเกิล) และรถยนต์นั่ง โดยในรถยนต์นั่ง มีส่วนแบ่งในตลาดโลกใกล้เคียงกับไทย แต่เนื่องจากไทยมีความสามารถในการแข่งขันในรถยนต์นั่งลดลง ทำให้มีโอกาสเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งได้

ดังนั้น เพื่อยกระดับการส่งออกของสินค้าไทย ควรมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่โลกมีความต้องการบนพื้นฐานของศักยภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการส่งออกสินค้าพื้นฐาน หรือแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าน้อย

"สินค้าที่โลกต้องการ ไทยผลิตและส่งออกได้น้อย โครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของไทยแข่งขันไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย ด้วยเศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม" นางวรวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ