ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือน ธ.ค.66 และไตรมาส 4/66 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ชะลอลงจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว อาทิ การที่เศรษฐกิจจีนพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในทิศทางชะลอลงด้วย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
ขณะที่แนวโน้มเดือน ม.ค.67 กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังได้รับแรงส่งจากการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ส่วนระยะต่อไปต้องติดตาม 1.การฟื้นตัวของการค้าโลก และผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 3.นโยบบายของภาครัฐ
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่า ในเดือนธ.ค. 66 มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำ จะทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการส่งออกลดลงในหลายสินค้าตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการส่งออก และผลจากปัญหาภัยแล้ง โดยการส่งออกข้าวขาวไปอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ลดลงตามผลผลิตข้าวที่ลดลง ส่วนการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน ขณะที่การส่งออกปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ลดลงต่อเนื่อง หลังจีนหันมาผลิตในประเทศเองมากขึ้น รวมทั้งความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ในอาเซียนลดลง
อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดยังปรับเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปฮ่องกงและจีนตามรอบการส่งมอบสินค้า
- ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดปิโตรเลียมและหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลง จากการทยอยระบายสินค้าคงคลังของผู้ผลิต หลังได้ผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ
- เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง หลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้า โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศปรับเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น
- มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะ 1. วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน 2. เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ และ 3. สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน หลังเร่งนำเข้ามามากในเดือนก่อนสำหรับงานมหกรรมยานยนต์
- เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
- ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนธ.ค.66 อยู่ที่ 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนี่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะสัญชาติจีน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ ยุโรป และสหรัฐฯ ชะลอลงเล็กน้อยหลังเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายงบกลางสำหรับเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค. อยู่ที่ -0.83% ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาหมวดอาหารสด ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และจากราคาหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.58% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนธ.ค. เกินดุล 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการเกินดุลจากดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนธ.ค. แข็งค่าขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว