KTB ชี้โอกาสธุรกิจไทยในจีนและลาวรับอานิสงส์รถไฟความเร็วสูงหนุนส่งออกเพิ่ม 2.7 หมื่นล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 31, 2024 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KTB ชี้โอกาสธุรกิจไทยในจีนและลาวรับอานิสงส์รถไฟความเร็วสูงหนุนส่งออกเพิ่ม 2.7 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองจีนและลาวเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากแรงหนุนของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้เกิดการสร้างฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่กระจายตัวในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนและลาวสูงขึ้น คาดการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท ในอีก 7 ปีข้างหน้า แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากโอกาสด้านการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ได้ขยายระยะทางขนส่งผู้โดยสารข้ามประเทศจากนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ถึงนครคุนหมิงของจีน จากช่วงแรกที่ให้บริการเฉพาะภายใน สปป.ลาวเท่านั้น ส่งผลให้สามารถขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างจีน ลาว และไทยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายการค้าการลงทุนในจีนและลาว รวมถึงโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่มีแนวโน้มเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ด้วยสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยในปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ -1.3%YoY อย่างไรก็ดี การส่งออกผ่านแดนไปจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวผ่านด่านหนองคายที่คาดว่า ในปี 2566 จะแตะระดับเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวถึง 4 เท่าตัว และคาดว่าในปี 2573 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2566

นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเฉพาะจากมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมถึง 4 พื้นที่ใกล้เคียงที่สามารถเดินทางถึงกันได้ทางรถไฟ ได้แก่ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเพียง 1% หรือราว 2.5 ล้านคน จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยราว 4,685 ล้านบาทต่อปี

นายสุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า แรงหนุนจากรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนและลาว 3 ด้านหลัก ได้แก่

1) โอกาสด้านการค้า ไทยจะมีโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพไปตลาดจีนและลาว สำหรับตลาดจีน ได้แก่ ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ส่วนตลาดลาว ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยผู้ประกอบการไทยอาจเลือกสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าเป้าหมายหรือเป็นทางเลือกใหม่ในการขยายตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในจีนและลาวมากขึ้น

2) โอกาสด้านการบริการ ประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งและ Logistics จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

3) โอกาสด้านการลงทุน คาดการณ์ว่าจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งมีโอกาสดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากลาวมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนในจีนและลาวในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการซื้อขายสินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิเช่น แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ผักและผลไม้เมืองหนาว เป็นต้น

นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพของตลาดจีนและลาวที่สามารถรองรับความต้องการสินค้าและบริการได้อีกมากในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ทิศทางของเทรนด์สินค้าในตลาดจีนและลาวที่มีแนวโน้มเติบโต และได้รับประโยชน์จากการขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ ESG ตลอดจนพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ความผันผวนของค่าเงิน ภาวะเงินเฟ้อที่สูง เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด้านสาธารณูปโภค และด้านดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการค้าและการให้บริการแก่ลูกค้าชาวจีนและชาวลาว รวมทั้งเพิ่มการลงทุนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ