ตลาด Food Delivery ไทยทิศทางขาลง หลังพฤติกรรมกลับสู่ปกติ-ราคาแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 3, 2024 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาด Food Delivery ไทยทิศทางขาลง หลังพฤติกรรมกลับสู่ปกติ-ราคาแพง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง

ในปี 2567 คาดว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นหรือ Food Delivery น่าจะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 โดยเป็นผลจาก

1. ความจำเป็นในการสั่งผ่านแอปฯ ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคกลับไปทานอาหารที่ร้าน ตามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ตามปกติ

โดยจากผลสำรวจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า แม้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการ Food Delivery เกือบทั้งหมด (94% ของผู้ตอบ) คิดว่ายังมีการใช้บริการ Food Delivery แต่ 48% ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะสั่งอาหารน้อยลง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในเดือนมิ.ย. 66 ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าสมัครใหม่ชะลอลง สะท้อนได้จากดัชนีการสมัครใช้งานของ LINE MAN ที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการเข้าถึงการใช้บริการ Food Delivery นี้มากพอสมควรแล้ว ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ จึงใช้กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าด้วยการเพิ่มพื้นที่บริการในต่างจังหวัดอย่างในเมืองท่องเที่ยวรอง การเพิ่มบริการใหม่ๆ และการขยายฐานแหล่งรายได้ใหม่ เช่น การเพิ่มส่วนลดการบริการเรียกรถ ส่วนลดการนั่งทานอาหารในร้านที่เป็นพันธมิตร การสร้างพันธมิตรข้ามธุรกิจ

2. ราคาอาหารเฉลี่ยในแอปฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อปริมาณการสั่ง ซึ่งเป็นผลมาจาก 2.1 ต้นทุนสะสมที่สูงทำให้ร้านอาหารต้องปรับราคาขึ้นทั้งหน้าร้านและในแอปฯ ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าสาธารณูปโภค ค่าแรง ค่าวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหาร

โดยในปี 2567 คาดว่าราคาอาหารเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% ต่อเนื่องจากราคาเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 5.7% ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่วนหนึ่งมองว่าการสั่งอาหารจากแอปฯ มีราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ดี หนึ่งในทางเลือกเพื่อจัดการปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสูงขึ้น คือการนำเทคโนโลยีการจัดการสต็อกที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ทำให้ร้านอาหารสามารถวางแผนได้ดีขึ้นตั้งแต่วิธีการสั่งซื้อและการบริหารสต็อกโดยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ 2.2 การแข่งอัดโปรโมชั่นผ่อนลงจากก่อนนี้ จากการที่แพลตฟอร์มหันมาเน้นสร้างกำไร หลังส่วนใหญ่บันทึกขาดทุนสะสม ปัจจุบัน ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Food Delivery ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นในการทำตลาดด้วยการลดค่า GP (ค่าเฉลี่ย GP จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 30%) และรวมถึงส่วนลดในค่าจัดส่งมีข้อจำกัด

อย่างไรก็ดี ยังเห็นว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Food Delivery ปรับกลยุทธ์การทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (Selective Marketing) มากกว่าการทำตลาดในวงกว้าง (Mass Marketing) ดังเช่นที่ผ่านมา ด้วยการทำตลาดร่วมกับร้านอาหารที่ได้รับความนิยมหรือมีการสั่งซื้อที่สูง อาทิ การจัดแคมเปญส่วนลดค่าอาหารเมื่อซื้อครบตามที่กำหนด รวมถึงการใช้รูปแบบ Subscription Model ซึ่งช่วยให้ผู้สั่งประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง รวมถึงส่วนลดหรือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอื่นในแอปพลิเคชั่น เช่น Ride Hailing และจัดส่งพัสดุตามแพคเกจ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ทั้งนี้ แม้เทรนด์การสั่งอาหาร Food Delivery จะมีทิศทางที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ช่องทางนี้ยังสำคัญ เนื่องจากยังมีผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างเวลาเร่งด่วน หรือ Work From Home เป็นต้น นอกจากนี้ ช่องทางนี้ก็มีความสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จาก Food Delivery สูงกว่าการให้บริการหน้าร้าน เช่น ร้านอาหารข้างทาง และร้านอาหารในกลุ่ม Fast Food


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ