น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้า ระหว่างกรมศุลกากรแห่งอาณาจักรไทย และกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งจะมีการลงนาม และรับรองร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้คู่ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนของการผ่านแดน โดยสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากร หากได้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการผ่านแดนอย่างครบถ้วน แต่ประเทศภาคีสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาระที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือค่าบริการอื่น ๆ ได้
2. สินค้าต้องห้าม และสินค้าต้องกำกัด (สินค้าที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษเมื่อจะนำเข้า-ส่งออก) ในการผ่านแดน จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศภาคีทั้งสองฝ่าย หรือข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนของประเทศที่มีการผ่านแดน เช่น ความมั่นคง การปกป้องคุณค่าทางศิลปะ และประวัติศาสตร์
3. สินค้าผ่านแดน จะต้องขนส่งผ่านที่ทำการพรมแดนที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาคผนวกดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่ภาคี ทั้งนี้ เส้นทางภายในประเทศสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดน จะถูกกำหนดโดยภาคีแต่ละฝ่าย
4. ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตร ระหว่างหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฝ่าย
5. การแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยภาคีอีกฝ่ายจะต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เสนอมาทั้งหมด จะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย
6. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนาม และให้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
7. ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่เสนอจะยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่าย โดยให้แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะยังมีผลบังคับใช้ในการดำเนินการ หรือการทำข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ