หลังจากรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายแปลงเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ที่เกษตรกรถือครองอยู่ทั่วประเทศให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ได้ทยอยออกกฎหมายมารองรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากการถือครองเอกสารดังกล่าว ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยสามารถส่งต่อให้ทายาท หรือคืนสิทธิให้กับสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินโดยได้รับผลตอบแทน
"ร่างกฏกระทรวงนี้มีเจตนากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดิน ทั้งกรณีมรดกตกทอด เพื่อทายาทโดยธรรม หรือกรณีมีการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันการเกษตร" นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โดยหลักเกณฑ์การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กรณีผู้ได้รับสิทธิฯ ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้สิทธิในที่ดินตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก รวมทั้งกำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรมด้วย
ส่วนการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร ได้กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ สามารถโอนสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อชำระหนี้ได้ และเพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิที่ประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมต่อไปยังคงเหลือที่ดินบางส่วนมาใช้ประกอบเกษตรกรรม และกำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถาบันเกษตรกร หลังจากได้รับโอนสิทธิในที่ดิน โดยจะต้องใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม และจะทำการแบ่งแยกหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือนำไปให้บุคคลอื่นเช่าไม่ได้ รวมถึงการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก.กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ อาจแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินบางส่วน หรือทั้งหมดคืนให้ ส.ป.ก.โดยขอรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น
"คนที่ถือสิทธิอยู่มาก 50 ไร่อาจคิดว่าทำต่อไปไม่ไหว ไม่มีลูกหลานมาสานต่อ ก็อาจคืนสิทธิบางส่วนสัก 40 ไร่ให้กับ ส.ป.ก.แล้วเหลือไว้ทำกินแค่ 10 ไร่ก็พอ" นายชัย กล่าว