สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าปีก่อน ทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน เนื่องจากสถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ทำให้บริษัทชั้นนำต่างมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความมั่นคง มีความพร้อม และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี สามารถตอบโจทย์ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปีของบีโอไอที่มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 342,149 ล้านบาท
- ยานยนต์และชิ้นส่วน 82,282 ล้านบาท
- เกษตรและอาหาร 74,416 ล้านบาท
- ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 45,951 ล้านบาท
- เทคโนโลยีชีวภาพ 31,814 ล้านบาท
โดยการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างมาก จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 62% และมูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าจากปีก่อน เนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การทดสอบแผ่นเวเฟอร์และแผงวงจรไฟฟ้า รวมทั้งกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์กว่า 20 โครงการใหญ่ ทั้ง PCB และ PCBA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ ส่วนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นำโดยบริษัทค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนอย่างฉางอัน ไอออน และโฟตอน
มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท สำหรับญี่ปุ่นมีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึง 60% จากปีก่อน
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ในปี 2566 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 437 โครงการ เงินลงทุนรวม 29,379 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต ขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุนของ SMEs มีจำนวน 943 โครงการ เงินลงทุน 36,010 ล้านบาท
ขณะที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 จำนวน 2,383 โครงการ เงินลงทุนรวม 750,129 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 2.44 ล้านล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 139,000 ตำแหน่ง ส่วนการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,825 โครงการ เพิ่มขึ้น 22% เงินลงทุนรวม 490,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%