นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 16,986 ล้านบาท โดยได้เสนอแผนงานโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ประมวลข้อมูลส่งกลับกระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการ และอนุมัติให้ ทล.ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือนมี.ค.67 และเปิดประมูลในช่วงปี 68 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ประมาณ 3 ปี
ทั้งนี้ หลักการโครงการมอเตอร์เวย์ M9 ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน นั้น ทล.จะดำเนินการเอง โดยเสนอขอใช้เงินกู้ก่อสร้างงานโยธา และใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ ติดตั้งระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมถึงบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกและปลอดภัยและซ่อมบำรุง ซึ่ง ทล.ได้เสนอขอบรรจุโครงการในแผนเงินกู้ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมต่อไป และนำรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางของเส้นทางนี้ มาสมทบใช้คืนเงินกู้ได้บางส่วน
สำหรับแผนการดำเนินก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 (M9) มูลค่าโครงการ 16,986 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 15,936 ล้านบาท (ระยะที่ 1 ช่วงบางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว ระยะทาง 11.775 กม. ค่าก่อสร้าง 4,860 ล้านบาท ระยะที่ 2 ช่วงลาดหลุมแก้ว-บางปะอิน ระยะทาง 22.800 กม. ค่าก่อสร้าง 11,076 ล้านบาท ) ค่าก่อสร้างระบบ วงเงิน 1,050 ล้านบาท
รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างปรับปรุงก่อสร้างทางด้านข้าง ช่วงตั้งแต่บางบัวทอง-บางปะอิน ใกล้จะแล้วเสร็จ และอนาคตจะปรับเป็นทางคู่ขนาน M9 ด้านตะวันตก ส่วนตรงกลางที่เป็นทางเดิมขนาด 4 ช่องจราจร จะมีการปรับปรุงยกระดับให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเต็มรูปแบบ ที่มีการควบคุมการเข้า-ออกตลอดสาย (Fully controlled access) โดยเมื่อทางขนานก่อสร้างเสร็จ จะเบี่ยงจราจรไปทางขนานเพื่อดำเนินการปรับปรุงช่องทางตรงกลาง
โดยการก่อสร้างงานโยธา จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ช่วงบางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 67 ส่วน ระยะที่ 2 ช่วงบางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว จะเริ่มก่อสร้างในปี 69
"ผลการศึกษา มอเตอร์เวย์สาย 9 ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน นั้น ทล.ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเอง มีความคุ้มค่ากว่า เนื่องจากแนวเส้นทางเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางจากด้านตะวันตก ขยายข้ามไปด้านตะวันออก ของกรุงเทพมหานคร จึงสามารถใช้ทรัพยากร เครื่องมือ อาคารสถานีร่วมกันได้ จึงประหยัดกว่าการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งทล.ได้หารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาเร่งผลักดันโครงการเข้าบรรจุในงบประมาณปี 2568 เพื่อเริ่มก่อสร้างเฟสแรกได้ตามแผน แต่หากไม่ทัน ก็จะต้องขยับไทม์ไลน์ออกไปอีก 1 ปี ไปเริ่มก่อสร้างเฟสแรกในปี 2569 แทน" รองอธิบดี ทล. กล่าว
นายปิยพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ กรมฯ มีแผนนำเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) ในระยะแรก ช่วงนครปฐม-ชะอำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำสรุปข้อมูลโครงการ รายละเอียดวงเงินโครงการ รูปแบบก่อสร้าง คาดว่าจะทบทวนการศึกษาเสร็จในปี 2567 โดยโครงการนี้ กรมทางหลวงจะลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ส่วนงานระบบ O&M จะสรุปการศึกษาการร่วมลงทุนเอกชน และเสนอ สคร.และบอร์ด PPP อนุมัติในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการฯ จะใช้รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐลงทุนงานโยธา โดยใช้แหล่งเงินกู้ในการก่อสร้าง และเอกชนลงทุนงานระบบ O&M โดยแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 บริเวณ กม. 188 อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
เดิมโครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาทนั้น บอร์ด PPP อนุมัติแล้ว ลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost แต่เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี คัดค้านการก่อสร้าง ทล.จึงต้องทบทวนผลการศึกษาโครงการใหม่ การปรับปรุงแบบ ทบทวนค่าก่อสร้าง และอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. รวมวงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาทจะดำเนินการก่อน เนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่
สำหรับมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ กรมทางหลวงพยายามผลักดัน เนื่องจากเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางของ กทม.ด้านตะวันตกที่เมืองขยายตัวอย่างมาก มีปริมาณจราจรสูง จำเป็นต้องมีเส้นทางแนวใหม่ที่รองรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดภาระของถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์ 82 (ทางยกระดับพระราม 2) และโครงข่ายยังต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) อีกด้วย