การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ไตรมาส 4/2566 ว่า อยู่ที่ระดับ 77 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยว ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 82 คาดว่าไตรมาสนี้ สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 4/2566 เล็กน้อย และดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2567 จะดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาคเหนือ สถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากที่สุด ส่วนภาคกลาง เป็นบวกน้อยที่สุด สำหรับธุรกิจที่เป็นบวกมากสุด คือ ธุรกิจสปา/นวดแผนไทย ส่วนธุรกิจแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นบวกน้อยสุด
สำหรับธุรกิจพักแรม มีรายได้ประมาณ 63% และมีการจ้างงานแล้ว 88% อัตราการเข้าพักในไตรมาส 4/2566 เฉลี่ยทั่วประเทศที่ 62% โดยกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ 68% ส่วนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 4,293 บาท/คน/ทริป
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสทท. กล่าวว่า เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปีนี้ให้มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายที่รัฐบาลไว้ถึง 40 ล้านคน เสนอให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนนั้นมาจากเป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาทที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แม้จะเป็นเป้าหมายที่ทำได้ยากมาก แต่หากสามารถทำได้สำเร็จจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งประเทศ และมีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับสองของโลกในด้านรายได้ โดย สทท.มองว่าในด้าน Demand นั้น ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะทำได้ แต่ด้าน Supply ยังมีความท้าทายหลายด้านที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"หากต้องการรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท จะต้องมาจาก 2 ส่วน คือ ต่างชาติเที่ยวไทย สทท.คาดว่ารายได้จะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2.24-2.30 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เมื่อคำนวณกับค่าใช้จ่ายคนละ 56,000-57,5000 บาท และไทยเที่ยวไทยอีก 1.20-1.26 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2562 เราเคยมีรายได้ไทยเที่ยวไทยที่ 1.08 ล้านล้านบาทมาแล้ว หากใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเราจะสามารถทำตามเป้าหมายได้" นายชำนาญ กล่าว
โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ข้อ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์มุ่งเป้า โดยต้องกำหนดการเชื่อมโยง Demand-Supply ใน 3 มิติ who/where/what นักท่องเที่ยวเป็นใครชาติใด วัยใด สนใจเรื่องอะไร ไปเที่ยวจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดใด นักท่องเที่ยวเที่ยวรูปแบบใดและทำกิจกรรมอะไร
- ยุทธศาสตร์คลังสมองท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องมี Tourism Think Tank เริ่มจาก 100 คน โดยคัดผู้มีประสบการณ์จากทุกสาขาอาชีพ จากพื้นที่ 5 ภาค จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว และจากนักวิชาการ มาช่วยกันเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม อีกทั้งยังสามารถเป็นผู้ช่วยพัฒนานโยบายและโครงการเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ยุทธศาสตร์ Tourism Clinic เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ Supply Side ปัญหาหลักของผู้ประกอบการมี 4 ด้าน คือ การเงิน บุคลากร การตลาด และนวัตกรรม Tourism Clinic จะเป็นเสมือนคุณหมอคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อให้กลับมาแข็งแรงและเก่งกว่าเดิม
ประธาน สทท.กล่าวว่า เราต้องเลือกทำตลาดในประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดิม 20 อันดับแรกก่อนเลย อย่าไปสนใจตลาดใหม่ที่ต้องใช้เวลาอีกนาน โดยจัดกิจกรรมปูพรมไปพร้อมกันและต่อเนื่องเพื่อกระตุกตลาดให้ฟื้นตัว อย่างเช่น 5 เมืองใหญ่ของจีน ขอให้มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 3-5% ก็ได้ตามเป้าแล้ว ซึ่งจากการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยมีความพร้อมกว่าทุกประเทศ
กรณีฟรีวีซ่า อยากแนะนำให้รัฐบาลออกวีซ่าให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเรียนมวยไทย หรือเรียนทำอาหาร ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องซอฟท์พาวเวอร์ไปด้วยในตัว
นอกจากนี้ ตนยังเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่จะนำแนวคิดเรื่องวีซ่าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเหมือนในยุโรป ซึ่งจะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวได้อย่างมาก หากดำเนินการได้เร็วเชื่อว่าจะดึงนักท่องเที่ยวปีนี้ให้เพิ่มถึง 40 ล้านคนได้ไม่ยาก