นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ และระหว่างที่รอความชัดเจนจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้าน โดยเฉพาะการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายย่อย สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ออกมาเสริมกับการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองในช่วงก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังอยู่ระหว่างการหารือและเจรจาร่วมกับ ธปท. เพื่อขอให้มีการปรับลดเกณฑ์มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) ซึ่งยอมรับว่าได้มีการหารือกับไปหลายทีแล้ว และหวังว่าทาง ธปท. จะใจอ่อนเสียที
"มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เตรียมจะออกมานั้น ปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งหากพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ต้องนำไปหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งคิดว่าน่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจ" นายกฤษฎา กล่าว
พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ กระทรวงการคลัง ได้เร่งผลักดันมาตรการด้านการคลังออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพราะต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต, มาตรการด้านภาษี ทั้งการลดหย่อนต่าง ๆ, มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนต่าง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ, มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว, การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเหล่านี้เป็นมาตราการด้านการคลังที่พยายามทำอย่างเต็มที่ และหากยังมีส่วนใดที่ขาด ก็จะพยายามเข้าไปช่วย
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปีนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ กนง.จะพิจารณาและตัดสินใจว่าในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ควรจะต้องนำนโยบายการเงินออกมาใช้แล้วหรือไม่ คงไม่ขอก้าวล่วงการตัดสินใจของ กนง. เพียงแต่ในส่วนของรัฐบาลเห็นว่าเวลานี้ควรจะเข้ามาช่วยกันแล้วเท่านั้น
"เป็นเรื่องที่ กนง.จะพิจารณากันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนตัวยังไม่เห็นตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ของ กนง. เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการแถลง ไม่รู้จริง ๆ ว่าตัวเลขปี 2566 จะเป็นอย่างไร ขณะนี้มีเพียงตัวเลขเศรษฐกิจจากกระทรวงการคลังเท่านั้นที่ออกมา เข้าใจว่าอาจจะรอตัวเลขจริง จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้ ส่วนแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2567 ของทุกส่วน เข้าใจว่าคงมองใกล้ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง" รมช.คลัง กล่าว