นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ 15 ก.พ.นี้ หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแถลงช้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 8 ข้อ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม
"ผมคิดว่าเราชัดเจนว่าเราจะเดินหน้า ส่วนกรอบเวลารอให้สะเด็ดน้ำก่อน ให้ฝุ่นหายตลบก่อนแล้วจะเห็นชัดขึ้น" นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.คลัง ระบุว่า กรอบงานโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังเหมือนเดิมและจะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยมีตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบการทุจริต รับฟังความเห็นในสังคม รวมถึงการเชื่อต่อกับระบบการเงินอื่นๆ เพื่อให้ตัวระบบมีความครอบคลุมมากขึ้น
และหากเอกสารของ ป.ป.ช. เข้ามาทัน เราคงนำเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วยเช่นกัน เพราะบางประเด็นอาจเป็นความไม่เข้าใจของป.ป.ช.ในเบื้องต้น หรืออาจจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่เราก็ชี้แจงได้ เช่น เรื่องกลไกเปลี่ยนเป็นการกู้ เรื่องบล็อกเชน ที่ตอบง่ายมาก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่าง แต่สามารถชี้แจงได้ ส่วนเรื่องใดที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมเราจะหาหนทางชี้แจง ทำความเข้าใจต่อไป
ส่วนประเด็นที่ ป.ป.ช. มีความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในโครงการดังกล่าวและการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ตรงกัน และอาจจะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อย่างน้อยเราทำตามที่เราบอกไว้ถึงแม้รูปแบบจะเปลี่ยน หากไปอ้างถึงนโยบายของพรรคการเมือง ตอนที่ทำทุกนโยบายเมื่อเขียนส่ง กกต.จะมีการกำหนดว่าขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เพราะเมื่อความเหมะสมเปลี่ยนไปเรามีความจำเป็นต้องเปลี่ยน
และนี่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลประกอบขึ้นจากพรรคการเมืองหลายพรรค เมื่อมีการหารือตกลงกันแล้วมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เราจะยึดเอานโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ต้องผสมผสานกันทั้งหมดเพื่อหาความลงตัวที่สุดและเดินหน้าได้ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายยังเป็นกลุ่มเดิม
กรณีที่ ป.ป.ช.เสนอให้ใช้เงินจากงบประมาณและช่วยเฉพาะคนจน คล้ายกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และเราเห็นชัดเจนว่ากลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการหยอดน้ำข้าวต้ม จึงต้องมีกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมา
"บางหน่วยงานไม่ต้องตอบรับเสียงสะท้อนต่อประชาชน หากเศรษฐกิจดำดิ่งหนักลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คนรับผิดชอบคือรัฐบาล เราต้องแสดงความชัดเจนว่านโยบายที่ได้รับการแถลงต่อรัฐสภาแล้ว บรรจุเป็นนโยบายของรัฐ มีหน้าที่ที่ต้องเดินหน้าให้ได้ แต่แน่นอนว่าต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย" นายจุลพันธ์ กล่าว