นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 จากผู้ที่มาลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย มูลหนี้ราว 9,800 ล้านบาท และมีผู้รอเข้ากระบวนการ (ข้อมูลไม่ครบ) 119,000 ราย
หลังจากดำเนินการมาแล้วราว 2 เดือน มีผู้ที่เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาหนี้แล้ว 21,000 ราย และอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย 9,000 ราย โดยมีผู้ที่ได้รับการไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 12,000 ราย มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า การติดต่อเจ้าหนี้ให้ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย และทำให้ได้ข้อตกลงที่พึงพอใจของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งข้อตกลงในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายมาก หนึ่งในปัญหาหลัก คือการที่เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนที่ไม่ครบถ้วนของลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ไม่เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ ติดตาม และช่วยเหลือ และขอให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตัวเองด้วย เพื่อสามารถนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระบวนการไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบครั้งนี้ ยังคงต้องเร่งปฏิบัติงานแบบเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้บรรลุผลให้มากที่สุด นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอเข้าร่วมการแก้หนี้ได้สะดวกมากขึ้น ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดพิจารณาจัดกิจกรรมกิจกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้ตลาดนัดแก้หนี้" ซึ่งได้รับทราบมาว่าได้มีการดำเนินการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง
สำหรับบันไดขั้นที่สอง ของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน ? 4 ธันวาคม 2566 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 ? 24 มกราคม 2567 โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 1,300 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท
บันไดขั้นที่สาม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ผ่านการไกล่เกลี่ยมาแล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบหลายมาตรการด้วยกัน แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่ออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นจากกระบวนการ การเตรียมเอกสารรายรับ รายจ่ายย้อนหลัง ที่ลูกหนี้ต้องยื่นและเป็นอุปสรรคต่อการได้รับสินเชื่อ ซึ่งได้กำชับธนาคารทั้ง 2 ธนาคารแล้ว ให้ดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ อยากให้ธนาคารของรัฐ นำเงินกลับไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบากมากกว่ากอดผลกำไรไว้ ในขณะที่อีกหลายครอบครัวกำลังทนทุกข์กับหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ การที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้ามาในกระบวนการเพื่อยืนยันว่ามีหนี้จริง ก่อนให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามกฎหมาย
และบันไดขั้นสุดท้าย ที่จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก คือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมกันเสริมทัพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน
ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ลูกหนี้รหัส 21 ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือ โดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้ง ยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้ว มากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรควรเกิน 4.75% ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์ กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3,000,000 ราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต ได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว มากกว่า 150,000 บัญชี
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากองทุน (กยศ.) ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 600,000 ราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้
กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป