รัฐบาลเดินหน้าการทูตเชิงรุกดันไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก!

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2024 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินยุทธศาสตร์การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้เป็นการทูตที่จับต้องได้เพื่อประโยชน์ถึงประชาชน โดยในวันที่ 14 ก.พ.67 นายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับ พล.อ.เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และภริยา ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสให้ไทยมีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก

"นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่กำหนด ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับประชาชน ซึ่งเมื่อทุกกลไกซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เกิดการการค้า การลงทุนกับต่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศทำงานจนเห็นผลสำเร็จจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม" นายชัย กล่าว

นายชัย ระบุว่า นอกเหนือจากการเดินทางเปิดตลาด กระตุ้นการค้าการลงทุนของนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับแขกต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ต้นปี โดยได้หารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ เอกชนเยอรมนีสนใจลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะในโครงการ Landbridge ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดซึ่งตรงกับการให้ความสำคัญของไทย ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และไทยขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีในการเจรจา FTA Thai-EU ซึ่ง ประธานาธิบดีเยอรมนีพร้อมสนับสนุนไทยเต็มที่

ทั้งนี้ ไทยยังถือเป็นประเทศที่สำคัญในเรดาร์ของการต่างประเทศโลก เพราะนายกรัฐมนตรีได้พบปะกับบุคคลสำคัญทางการต่างประเทศ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และนายหวังอี้ รมว.ต่างประเทศจีน และกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนของจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเลือกเดินทางมาพบกันที่ประเทศไทย และในการเดินทางเยือนไทยของนายหวังอี้ครั้งนี้ ได้มีการลงนามความตกลงยกเว้นการลงตราซึ่งกันและกันสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและจีน หรือ วีซ่าฟรี (Visa Free) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และนอกจากนั้น นายหวังอี้ กล่าวกับนายกฯ ว่ารัฐบาลและเอกชนจีน สนใจในโครงการ Landbridge ต้องการให้ไทยส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และภริยา ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสได้หารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การยกระดับความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาสู่การเป็น "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์" สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ความร่วมมือในความมั่นคงบริเวณชายแดน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงและการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามและแลกเปลี่ยน MoU จำนวน 5 ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือด้านวิชาการ การรับมือเหตุฉุกเฉิน การผ่านแดนสินค้า การส่งออกและนำเข้า และความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย-กัมพูชา

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเชื่อว่าเพื่อให้เห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากในประเทศเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ