ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ระดับ 62.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 47 เดือนนับตั้งแต่ มี.ค.63
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 56.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 59.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 72.2 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.66 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกัน
ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 จากภาครัฐ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน เช่น Easy E-Receipt ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี
2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาเบนซิน และตรึงราคาดีเซล
3. มาตรการฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวบางประเทศ เช่น จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน และขยายเวลาพำนักในไทยเพิ่ม
4. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น
5. พืชผลเกษตรเกือบทุกรายการ ราคาปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนกำลังซื้อในต่างจังหวัด
6. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ในระดับที่ทรงตัว
7. การส่งออกของไทยเดือนธ.ค.66 ขยายตัว 4.65%
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงเหลือโต 1.8% ส่วนปี 67 คาดโต 2.8%
2. ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ
3. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ เช่น ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น
4. ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
5. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า สะท้อนการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
6. ความกังวลต่อภาวะภัยแล้ง และสถานการณ์เอลนิโญ ที่จะมีผลต่อการใช้น้ำภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริโภค
7. ความกังวลต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนม.ค.67 เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้
อย่างไรก็ดี ค่าดัชนียังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาอาจยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยปัจจัยเหล่านี้ มีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้นี้
ส่วนกรณีเหตุการณ์ป่วนขบวนเสด็จ จะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ทางการเมืองที่จะมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตหรือไม่นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง แต่ระยะหลังๆ ปัญหาสีเสื้อเริ่มลดน้อยลงไปแล้ว และเชื่อว่ากรณีล่าสุดของ "ตะวัน" จะไม่เป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง หรือก่อม็อบรุนแรงดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา และไม่มีผลต่อเสถียรภาพการเมือง ไม่มีผลไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล และการยุบสภา ดังนั้นสถานการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต