นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า WTO ได้จัดทำร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี สำหรับเป็นกรอบที่จะใช้ประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 13 วันที่ 26-29 ก.พ. 67 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสร็จแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ ความตกลงเรื่องเกษตร และความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาค 2 แต่ยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่ออีกจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งที่ 13
สำหรับไทย ให้ความสำคัญกับการเจรจาภาคเกษตรและอาหาร และการอุดหนุนประมง เป็นลำดับแรก เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยสินค้าเกษตรนั้น การแข่งขันในโลกมีความรุนแรงมาก เพราะประเทศต่างๆ มีนโยบายอุดหนุนและสำรองอาหารไว้มากเกินความจำเป็น อีกทั้งบางประเทศมีมาตรการห้ามส่งออก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวนมาก
"กรณีที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับเปิดให้คู่ค้ามาขอเจรจาซื้อเป็นรายๆ ไป และไม่แจ้งใช้มาตรการนี้ต่อ WTO ทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าบางส่วน และไม่ชัดเจนว่า อินเดียจะยกเลิกใช้มาตรการนี้เมื่อไร แต่มีแนวโน้มที่อินเดียจะใช้วิธีการนี้มากขึ้น ไทยจึงต้องติดตามการเจรจาเรื่องเกษตรอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการส่งออกข้าว และสินค้าเกษตรอื่น และรักษาตลาดส่งออก ผ่านการเจรจาสร้างกฎเกณฑ์พหุภาคีที่เป็นธรรมมากที่สุด" นางพิมพ์ชนก กล่าว
ส่วนการเจรจาการอุดหนุนประมงระยะที่ 2 ที่เน้นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ และเกินขนาด และการให้ความยืดหยุ่นประเทศกำลังพัฒนานั้น ท่าทีของไทยในการเจรจาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการทำประมงพื้นบ้าน และยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบของสินค้าประมงไทยด้วย
ขณะที่ประเด็นอ่อนไหวใหม่ล่าสุด ที่ไม่คาดคิดมาก่อนในขณะนี้ คือ การเจรจาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สหรัฐฯ ประกาศทบทวนนโยบายดิจิทัล พร้อมถอนข้อเสนอและท่าทีในประเด็นการเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ เรียกร้องให้สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการค้าดิจิทัลภายในแต่ละประเทศอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งสิทธิความเป็นเจ้าของในดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เพลง ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือหนังสือ
"ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่มีผลกระทบต่อการประชุมครั้งที่ 13 มากนัก แต่ที่น่าสนใจ คือ การเลือกตั้งที่ในหลายประเทศในปีนี้ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีท่าทีที่แข็ง ไม่ยอมยืดหยุ่น เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย หรือสหภาพยุโรป ที่เกษตรกรกำลังประท้วง และสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถมีท่าทีที่ชัดเจนได้ในหลายเรื่อง เช่น การระงับข้อพิพาท พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และมีแนวโน้มจะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ" นางพิมพ์ชนก กล่าว