นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน" โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า จากการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติมีความสนใจการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะสหรัฐและจีน ดังนั้น เชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะให้ความสำคัญและตระหนักดีในเรื่องนี้ ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา
ทั้งนี้ เรื่องพลังงานสะอาดของประเทศไทยนั้น แม้จะอยู่ในอันดับที่ 30 กว่าของโลก จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) แต่ถือว่าอยู่อันดับสูงสุดของอาเซียน ดังนั้นเรื่องพลังงานสะอาดของไทย จึงถือว่าดีกว่าหลายประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของราคาพลังงาน เพียงแต่เรื่องค่าไฟฟ้าที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เจรจาอย่างต่อเนื่อง
"เชื่อว่าเรื่องค่าพลังงาน มีการสอบถามกันว่าทำอะไรได้บ้าง มีกลไกอะไรไบ้าง เช่น ค่า PPA การขอใช้กริด (grid) ของโรงงานไฟฟ้าในปัจจุบัน การ ignore กลไกตลาดจะทำไม่ได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมา ต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี และอาจเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่ต้องวนไปจ่ายผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินอยู่ดี
แต่ว่าความเชื่อมั่นที่สูญเสีย ประเมินค่าไม่ได้ การทุบ (ราคา) โดยไม่ต้องสนใจกลไกของการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกไม่กี่วัน ก่อนจะต้องควักเอาของ (เงินภาษี) ประชาชนมาจ่าย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีดีหลายอย่าง และที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าโชคดี เพราะในอดีตเมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมา เรามีเขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล มีส่วนสำคัญช่วยในเรื่องของไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ในอนาคตสามารถพัฒนาทำเรื่องโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำได้ จึงต้องดูความเหมาะสมและเรื่องการลงทุน ว่าจะสามารถดึงพลังงานมาใช้ได้เท่าใด หากทำได้ถือว่าเป็น soft of energy และเป็นจุดขายของประเทศไทย และเชื่อว่าเรื่องพลังงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้ จะเดินทางไปพูดคุยกับนักลงทุนในแถบยุโรป เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านพลังงานสะอาดในประเทศ โดยเดือนหน้า (มี.ค.) มีแผนจะเดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เห็นว่า ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะไม่ใช่มีกลไกสนับสนุนทางด้านภาษีที่ดีแล้ว หรือมีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้คนมาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุขแล้ว แต่ค่าพลังงานก็มีความสำคัญ หากมองในระยะยาวเชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพทางด้านการเงินที่มั่นคง พร้อมดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก มาตั้งฐานผลิตในไทย รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการที่จะมาสนับสนุนให้นักลงทุน ไม่ใช่แค่พลังงานสะอาดอย่างเดียว
โดยในเดือนหน้า จะประกาศยกระดับด้านนวัตกรรมของอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งฐานผลิต เพราะหากนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานผลิตแล้วไม่สามารถส่งออกไปได้อย่างสะดวกสบาย ก็อาจจะมีปัญหาขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในด้านพลังงานภาคเกษตร โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งวานนี้ (13 ก.พ. 67) ได้มีข้อสั่งการในการช่วยเหลือลดค่าไฟสำหรับเครื่องสูบน้ำใช้ทำนา เนื่องจากการเกษตรถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ และต้องได้รับการช่วยเหลือ เพราะเรื่องพลังงานเป็นต้นทุน และองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของการทำเกษตร ทั้งนี้ เห็นว่าพลังงานโซล่าเซลล์ เป็นพลังงานที่ถูกที่สุด ซึ่งรัฐบาลจะมีการสนับสนุนการทำโซล่าเซลล์ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อทำให้ค่าไฟถูกลง และเกษตรกรใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ เชื่อว่าก็ต้องอยู่แบบมีศักดิ์ศรี อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่รอพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวในทุกเรื่อง ซึ่งยอมรับว่า เรื่องพลังงานเป็นต้นทุน และองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของการทำเกษตร" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นอกจากนี้ พลังงานที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ หลังจากตนได้รับตำแหน่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา และได้เดินทางไปต่างประเทศ พบว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ มีคนรุ่นใหมเข้าใจบริบทเข้าใจนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทย เข้าใจสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และเข้าใจความเป็นอยู่ของคนไทยดีที่สุด และเข้าใจในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินที่กำลังจะเปิดใหม่อีกเฟส และท่าเรือน้ำลึกเฟส 3 ซึ่งต่างชาติตระหนัก และมองว่าเป็นจุดบวกของไทย
*เดินหน้าคุยนายกฯ กัมพูชา ใช้พลังงานพื้นที่ทับซ้อน โดยเร็ว-โปร่งใส
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขที่จะพูดถึงกัน บางคนประเมินถึง 20 ล้านล้านบาทได้ แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องชายแดน หรือเขตแดนอยู่ ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และทุกคนให้ความสนใจ
โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องพื้นที่ที่ทับซ้อน และเรื่องขุมทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่ใต้ทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการและพูดคุยกัน อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องนี้ และจะมีการพูดคุยกับทั้งสองประเทศ เพื่อนำสินทรัพย์นี้ออกมาใช้โดยเร็วที่สุด
"ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านพลังงาน brown energy ไปสู่ green energy เพราะมีความจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซอยู่ดี จึงขอให้ทุกคนสบายใจ รัฐบาลนี้จะเดินหน้าต่อไป โดยพยายามแยกแยะปัญหาพื้นที่ทับซ้อน กับปัญหาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ ต้องทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวดีขึ้น" นายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความสำคัญในด้านการขนส่ง รองรับหลังจากช่องแคบมะละกาที่คับแคบ ดังนั้น การขนถ่ายสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ไทยจึงต้องจำเป็นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วโลก ทำให้การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น โดยรัฐบาลจะเร่งเจรจาต่อไป หลังไปเจรจาต่างประเทศนักลงทุนให้ความสนใจ
ส่วนเรื่องท่าเรือน้ำลึก เฟส 3 ที่มีความล่าช้า ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เรื่องรถไฟความเร็วสูง ก็มีความจำเป็น และบางสายจำเป็นต้องทำรถไฟรางคู่ไปก่อน เพื่อทำให้การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้นฃ
นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลมีแผนด้านพลังงานในระยะยาวที่ชัดเจน โดยจะต้องควบคู่กับการทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะต้องมีการวางรากฐาน หากไม่จบในรัฐบาลนี้ ก็ต้องดำเนินการในรัฐบาลต่อไป และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้