กรุงศรี เก็ง GDP ไทยปี 67 โต 3.7% ให้เป้า SET สิ้นปี 1,552 จุด EPS 96.8 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 15, 2024 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงศรี เก็ง GDP ไทยปี 67 โต 3.7% ให้เป้า SET สิ้นปี 1,552 จุด EPS 96.8 บาท

นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 3.7% (ยังไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet) โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.8% ภาคการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 5.3% ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในตลาดหลักที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่การส่งออกไปยังจีน และยุโรป ปรับตัวลดลง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.47% ในปีนี้ จากระดับ 1.3% ในปีที่แล้ว

กรุงศรี เก็ง GDP ไทยปี 67 โต 3.7% ให้เป้า SET สิ้นปี 1,552 จุด EPS 96.8 บาท

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบาย Digital Wallet และภัยแล้งจากเอลนีโญ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2567 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหนึ่งครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก"

ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ยังมีความน่าสนใจจากการปรับตัวลดลงมาและมีอัตราการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปัจจัยบวกสำคัญในระยะสั้นคือความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล คาดการณ์ว่าแนวโน้มหุ้นไทยจะได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น และมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหลังจากขายออกไปกว่า 1.92 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บลจ.กรุงศรี คาดการณ์ว่า SET Index ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 1,552 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 9.61% จากสิ้นปี 2566 บนสมมติฐาน EPS ที่ 96.8 บาท และค่า PER ที่ 16 เท่า ส่วนแนวรับสำคัญที่ 1,200 จุด

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศปี 2567 มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นหากเปรียบเทียบกับช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแต่อาจมีความผันผวนอยู่บ้าง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปและอยู่ในระดับขอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 1.00 - 3.00%

ดังนั้น กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนมีโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อีก การปรับอายุคงเหลือเฉลี่ยกองทุนด้วยกลยุทธ์เชิงรุกช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนได้จากความผันผวนของตลาดตลอดทั้งปี ทั้งนี้ แนะนำให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ยาวขึ้นควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี"

นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า ปีนี้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกมีความชัดเจนมากขึ้น Earnings ของตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยตลาดคาดว่าจะโตที่ 10% ซึ่งตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว แนะลงทุนกองทุนตรสารหนี้ กองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนา และหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ IMF คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.9% โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.4% นำโดยสหรัฐ ในส่วนของ GDP กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโต 4% ซึ่งปรับลดจากคาดการณ์เดิมจากความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน อย่างไรตามความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็น้อยลงเช่นกัน ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้คาดว่าไทยจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 2567 เงินบาทจะอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาเพราะมีแนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวของ Earnings ช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

นายศิระ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลงเหลือประมาณ 50% ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบทุกประเทศทั่วโลกในปีนี้จะเริ่มเข้าสู่วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ ขณะที่ความตึงตัวของตลาดแรงงานเริ่มคลี่คลายลงเช่นกัน คาดว่าเฟดจะยังคงมีการปรับลดปริมาณถือครองพันธบัตร ซึ่งถือได้ว่ายังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเหลืออยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเลือกตั้งของสหรัฐ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงรวมตลอดทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 75 ? 150 bps นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ที่อาจทำให้เกิดแรงเทขายขึ้นได้เป็นระยะ ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะประกาศออกมาได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ