นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แต่กระบวนการทั้งหมดยังต้องรอ ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบ โดยเฉพาะเมื่อมีหน่วยงานตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรการดังล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงข้อสังเกตต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน
ในระหว่างนี้ รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ อาทิ มาตรการในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย มาตรการในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ตลอดจนการลดราคาพลังงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยไม่ได้รอทำแค่มาตรการ Digital Wallet เพียงเรื่องเดียว
"รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย และยืนยันว่าไม่ได้ทำแค่มาตรการ Digital Wallet เพียงเรื่องเดียว ที่ผ่านมา เรามีนโยบายหลายตัวที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วน Digital Wallet ที่มีข่าวลือว่า จะทำ หรือไม่ทำต่อนั้น ขอยืนยันว่า เราเดินหน้าแน่นอน แต่ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ" นายจุลพันธ์ ระบุ
รมช.คลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วานนี้ (15 ก.พ.) มีการดำเนินการใน 3 ส่วนสำคัญ คือ
1. การตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องการใช้เงินผิดประเภท ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบจะต้องไปประชุมและวางกรอบแนวทางเพื่อป้องกันการใช้เงินผิดประเภท
2. การตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน (Fact-Finding) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดพาณิชย์รับผิดชอบ เพื่อตอบคำถามจากหน่วยงานว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันวิกฤตหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ใช้อ้างอิงในรายงานความเห็นจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นข้อมูลช่วงปลายปี 66
"แต่วันนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมาบอกให้เห็นภาพเศรษฐกิจในวันนี้ให้ชัดเจนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมีอะไรที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูล เพื่อชี้แจงข้อสังเกตที่ ป.ป.ช.ถามมา โดยในส่วนนี้จะใช้เวลาดำเนินการภายใน 30 วัน" รมช.คลัง กล่าว
3. มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปดูเรื่องการเชื่อมระบบกับภาพรวม ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างครอบคลุม รวมถึงเรื่องการใช้ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตและแสดงความเป็นห่วงถึงความเหมาะสมในการใช้ระบบ "บล็อกเชน" พร้อมแนะนำให้ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" หรือให้พิจารณาวิธีอื่นที่อาจจะดีกว่านั้น กระทรวงดีอีจะไปดำเนินการในส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลยืนยันแล้วว่า Digital Wallet จะดำเนินการผ่าน "เป๋าตัง"
"ในที่ประชุมฯ มีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วนและหลากหลาย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงบประมาณ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ดีอี ตำรวจ และตำรวจไซเบอร์ โดยในส่วนของ ธปท.นั้น ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า การตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก จะได้รู้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไร" รมช.คลัง กล่าว