ม.หอการค้า หั่นเป้าส่งออกปี 67 เหลือโต 2.5% จาก 3% ปัญหาทะเลแดง-ศก.จีนกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2024 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 67 ลงมาเหลือเติบโต 2.5% จากเดิมเคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3% เนื่องจากขณะนี้มองว่าช่วงครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงจากเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นจากที่อ่อนค่าลงไปมากในช่วงต้นปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาท คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง, ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเพิ่มขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และ FDI ที่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) ยังคงยืดเยื้อส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ ประเมินว่าการส่งออกในปี 67 จะมีมูลค่า 291,676 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% หรืออยู่ในช่วง 2-3% หรือมีมูลค่า 290,253 ถึง 293,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางส่งออกปี 67 ในภาพรวมฟื้นตัวจากปี 66 ที่ -1% จากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

1. IMF มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 67 ปรับเพิ่มการคาดการณ์ GDP โลกปี 67 บวก 0.2% จากเดือนต.ค. 66 ที่คาดว่าโต 2.9%

2. การค้าระหว่างประเทศของโลกปี 67 มีแนวโน้มขยายตัว 3.3% ปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อของโลกที่ลดลง, อัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ที่คาดว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 67, นโยบายการคลังของประเทศต่างๆ เช่น จีน ที่มากระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และจีน แม้จะชะลอตัวจากปี 66 รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่การส่งออกไทยก็มีแนวโน้มเป็นบวกเช่นกัน

3. ช่วงครึ่งปีแรกเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยต้นปี 67 อ่อนค่าตามดอลลาร์ที่แข็งค่า เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มสูงกว่าเป้าหมาย และการลดดอกเบี้ยถูกเลื่อนจากมี.ค. เป็นพ.ค.

4. เงินเฟ้อโลกลดลง กระตุกดอกเบี้ยขาลง ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

5. หลายประเทศคาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยสหรัฐฯมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ย พ.ค. 67 ทำให้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตขึ้นในครึ่งปีหลัง และส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกในครึ่งปีหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ