นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในมุมมองของผู้วางนโยบายของรัฐ ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่า 3% (ไม่รวมผลโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต้องฝากรัฐบาลว่าจะมีแนวทาง หรือมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร
"สภาพัฒน์ ประกาศว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2% ในปีที่แล้ว คือ 1.9% และคาดปีนี้ คาดเศรษฐกิจไทยจะโต 2.2-3.2% ขณะเดียวกัน ธปท. มองว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยโต 2.5-3.0% ส่วนกระทรวงการคลัง มองเศรษฐกิจไทยโต 2.8% ขณะที่หอการค้าไทย คาดส่งออกปีนี้จะขยายตัว 2-3% มองช่วงบนใกล้เคียง 3% ซึ่งการส่งออก เป็นปัจจัยหนุนนำหลักที่จะเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย มองว่า การที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตได้มากกว่า 3% โดยที่ยังไม่พึ่งพาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลนั้น การส่งออกจะต้องเป็นปัจจัยหลักในการเสริมเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดีในปีนี้ ซึ่งการที่ภาครัฐได้เชิญทูตพาณิชย์เข้ามา และเปิดตลาดต่างประเทศนั้น หอการค้าไทยฯ สนับสนุนให้ทำอย่างต่อเนื่อง และถ้าสามารถทำให้การส่งออกเด่นขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และตลาดอาเซียน ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เศรษฐกิจโตเกิน 3% ได้
นอกจากการส่งออกแล้ว ปัจจัยที่ต้องผลักดัน คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยหน่วยงานภาครัฐคาดปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย 35-38 ล้านคน ถ้าสามารถรักษาฐานท่องเที่ยวได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตกว่า 3% โดยแนะนำว่าควรดำเนินมาตรการต่อเนื่อง ทั้งฟรีวีซ่าชั่วคราว, การขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้น ให้เข้าใกล้ 50,000 บาทอีกครั้ง
"สิ่งที่จะต้องผลักให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% คือ ท่องเที่ยว และการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ควรทำ คือ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในจังหวัดตนเอง เช่น แหล่งน้ำ ถนน เพื่อให้เงินสะพัดเข้าระบบเศรษฐกิจ, ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน โดยเฉพาะโครงการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อผลักให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1-2/67 ขยายตัวดี เพราะในไตรมาสที่ 3-4/67 เงินงบประมาณของรัฐ จะเข้ามาเคลื่อนเป็นปกติ ซึ่งการที่สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโตต่ำ เพราะมองว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนยังติดลบ นอกจากนี้ ควรเร่งการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะเร่งรัดการลงทุนด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่หน่วยงานภาครัฐ ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจว่าจะโตต่ำกว่า 3% ทำให้ ม.หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ใหม่อีกครั้ง จากที่เคยประเมินไว้ว่าจะโตได้ราว 3-3.5%โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังมีอาการที่ไม่โดดเด่น
ในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลขอเวลาพิจารณาศึกษาความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ประมาณ 30 วัน และนายกรัฐมนตรี ระบุว่าต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลยังมุ่งมั่นในการทำดิจิทัลวอลเล็ต และยังไม่เปลี่ยนมุมมอง อย่างไรก็ดี เดิมที่คาดว่าจะได้ใช้ในเดือนพ.ค. น่าจะได้ใช้เดือนมิ.ย. ซึ่ง ธปท. มองว่าหากมีดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะโตเพิ่มได้อีก 0.6% (จาก 3.2% เป็น 3.8%) ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าจะโตเพิ่มอีก 0.9% (จาก 3.5% เป็น 4.4%) ด้าน ม.หอการค้าไทย มองว่าจะโตเพิ่มอีก 0.8-1%
"ถ้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่าช้าไป หรือปรับวงเงินน้อยลง ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลงไปด้วย การขยายตัวของเศรษฐกิจจะไม่บวกเท่าเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการใช้เมื่อไร ถ้าได้ใช้เดือนมิ.ย. โอกาสที่จะดันเศรษฐกิจไทยบวกอย่างน้อย 0.5-1.0% ยังเป็นไปได้อยู่ ดังนั้น หากมองเศรษฐกิจไทยโต 2.7-2.8% ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวกลับไปที่คาดการณ์เดิม 3.2% หรืออาจขยายตัวถึง 3.7-3.8% ได้อยู่ ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะฟังความเห็นประชาชน และตอบคำถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกฤษฎีกาอย่างไร" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนขณะนี้เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต คำว่าวิกฤต คือวิกฤตช่วงต้มยำกุ้ง หรือการที่เศรษฐกิจติดลบ แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 3/66 ที่เศรษฐกิจไทยโตเพียง 1.5% ซึ่งไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโต 2% เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เด่นขึ้น
"ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่ติดลบ จึงไม่ควรเรียกว่าวิกฤต ประกอบกับความเข้มแข็งทางการเงินของไทยสูงมาก ธนาคารไม่สั่นคลอน การว่างงานอยู่แค่ 0.8% เทียบกับช่วงโควิดที่ว่างงาน 2% แต่ความเชื่อมั่นยังไม่โดดเด่น โดยเฉพาะภาพของเศรษฐกิจที่ยังไม่เคลียร์ และโตต่ำกว่า 3%" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนการที่ GDP ต่ำกว่าคาด ทำให้สภาพัฒน์ออกมาเรียกร้องให้ธปท. ลดดอกเบี้ยนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นานๆ ทีจะเห็นสภาพัฒน์เรียกร้อง ทั้งนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท. บอก ถ้าหากไม่มีการแทรกแซงพลังงานของภาครัฐ เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 1-3% และสภาพัฒน์มองเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.9-1.9% ดังนั้น เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ
นายธนวรรธน์ มองว่า หาก ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ย ก็ยังสามารถทำได้ เพราะสิ่งที่สภาพัฒน์ และกระทรวงการคลังพิจารณา คือ เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่องหรือไม่ มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยถดถอยทางเทคนิคหรือไม่ เชื่อว่าถ้าถึงจุดนั้น ธปท. อาจลดดอกเบี้ยได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาปกติ การลดดอกเบี้ยอาจยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำของโลก และในอาเซียน และเงินเฟ้อยังเป็นบวกอยู่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการออมในระยะยาว และไทยยังต้องการเงินออม
"ดังนั้น เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยเมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ปัญหา แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ปัญหา คงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ GDP ปี 66 โต 1.9% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยแย่กว่าที่คาด และสถานการณ์ในไตรมาส 4/66 มีการโจมตีของกลุ่มฮามาส และเหตุการณ์กราดยิงที่พารากอน ดังนั้น ทำให้เกิดการช็อกมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ท่องเที่ยวและส่งออกไม่ดี ทั้งนี้ หากถามว่าเศรษฐกิจไทยแย่หรือไม่ จากบรรยากาศการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนและวาเลนไทน์ในปีนี้ ไม่พบว่าคนชะลอการใช้จ่าย และการจับจ่ายใช้สอยยังเป็นบวก