อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยเตรียมเชิญตัวแทนสมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ และสถาบันการเงิน มาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหากรณีที่โรงสีข้าวไม่ยอมรับซื้อข้าวจากชาวนา รวมทั้งกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร หลังพบต้นเหตุที่แท้จริงมาจากโรงสีขาดสภาพคล่องและผู้ส่งออกไม่มีออเดอร์
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า งได้รับการชี้แจงจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินที่จะไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร และโรงสีบางแห่งสต็อกเต็ม ไม่สามารถรับซื้อข้าวเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่ซื้อข้าว ทำให้ระบายข้าวได้ไม่ทัน ขณะที่ผู้ส่งออกชี้แจงว่าคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศชะลอตัวลง จึงซื้อข้าวจากโรงสีน้อยลง และผู้ส่งออกเองก็มีการสต็อกข้าวไว้เป็นจำนวนมาก
"ทางการได้ขอให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ให้กับโรงสีข้าวเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารรับจะพิจารณาให้เป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งทางโรงสีได้ยืนยันว่า หากมีสภาพคล่องก็พร้อมที่จะซื้อข้าวจากเกษตรกร และซื้อในราคาตลาด ไม่มีการกดราคาอย่างแน่นอน" นายยรรยง กล่าว
ขณะนี้ราคาข้าวเปลือก 5% อยู่ที่ตันละ 1.35-1.4 หมื่นบาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 1.8 หมื่นบาท
ส่วนบางจังหวัดที่มีปัญหาที่เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาต่ำและถูกกดราคารับซื้อ โดยอ้างว่าข้าวมีความชื้นนั้นทางการได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว รวมทั้งได้มีการประสานให้โรงสีข้าวในจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปรับซื้อ ซึ่งคาดว่าหลังจากมีการเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงสีข้าวแล้ว ปัญหาต่างๆ จะหมดไป ทั้งนี้หากเกษตรกรในจังหวัดใดมีปัญหาสามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วนแม่บ้าน 1569
ด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรประกาศรับจำนำข้าวนาปรังในราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน โดยทำควบคู่ไปกับการทำข้าวถุงธงฟ้ามหาชน เพราะจะทำให้ราคาข้าวในตลาดไม่ลดลง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการทำข้าวถุง คือ ต้องการให้ข้าวสารราคาถูกจากราคาตลาด 20% แต่ราคาข้าวเปลือกยังราคาสูงอยู่
ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับข้าวเปลือกมาถ่วงดุลไว้ไม่ให้ราคาตกต่ำตามข้าวสาร และเมื่อราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่ตกจะทำให้ไม่มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่การรับจำนำจะใช้เป็นเครื่องมือประกันราคาไว้ไม่ให้ข้าวเปลือกของเกษตรกรตกต่ำ
ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้เป็นผลจากความไม่ชัดเจนของคำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะนำข้าวในสต็อกรัฐบาลมาทำข้าวถุงธงฟ้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20% ส่งผลให้ผู้ส่งออกและโรงสีต่างชะลอการซื้อข้าวเพื่อรอให้ข้าวราคาถูกออกมา ซึ่งจะกดราคาข้าวในตลาดให้ลดลงแล้วจึงไปซื้อตอนที่ราคาข้าวลดลง
"คำว่า 20 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้ทุกคนคิดว่าราคาข้าวจะต้องลงมาอีก 20 เปอร์เซ็นต์ก็รอให้ราคามันลง แล้วค่อยไปซื้อ โรงสีก็ไม่ซื้อ ผู้ส่งออกก็ไม่ซื้อ ใครมันจะซื้อข้าวแพงแล้วขายถูก คนเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์จะพูดอะไรให้คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำโดยไม่คิด คำพูดมันมีผลต่อตลาด"นายประสิทธิ์ กล่าว
ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำนั้น กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ทำให้เพดานราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำไปกว่า 1.5 หมื่นบาท/ตัน เพราะหากได้ราคานี้เมื่อเกษตรกรขายข้าวให้กับโรงสีหักค่าความชื้นแล้วก็อยู่ที่ประมาณตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท เป็นระดับราคาที่เกษตรกรพอใจ เพราะต้นทุนการปลูกข้าวนาปรัง ณ เดือน มี.ค. สูงขึ้นมาอยู่ที่ 5,690 บาท/ไร่แล้ว และขณะนี้น่าจะสูงถึง 6-7 พันบาท/ไร่ จากราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปีก่อนต้นทุนการปลูกข้าวอยู่ที่ 4 พันกว่าบาท/ไร่
แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาในโครงการปุ๋ยพาณิชย์ราคาถูกจำนวน 1.5 แสนตันที่จะนำออกมาขายให้กับเกษตรกร เพราะปุ๋ยจำนวนดังกล่าวนี้ตกไปอยู่ในมือของผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวให้เป็นผู้บริหารจัดการ โดยปุ๋ยที่จะนำมาจำหน่ายนั้น เป็นปุ๋ยสูตร 16-20-0 มีราคาถูกกว่าท้องตลาดเพียงตันละ 500 บาท หรือถุงละ 25 บาท (ถุง 50 กก.) และมีเงื่อนไขมากมายในการซื้อ เช่น ให้สหกรณ์มารับซื้อแล้วนำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกร ต้องจ่ายเงินสดในการซื้อ ให้ขนย้ายปุ๋ยเอง ซึ่งไม่ทำให้ปุ๋ยมีราคาถูกลงเลย และไม่เป็นไปตามที่นายมิ่งขวัญเคยระบุไว้
ก่อนหน้านี้ นายมิ่งขวัญ เคยระบุว่า ได้หารือกับผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ 6 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดปุ๋ย 75% ว่าจะนำปุ๋ยจำนวน 1.5 แสนตัน สำหรับใช้ปลูกข้าว หักส่วนลดตันละ 200-1,000 บาท ออกมาจำหน่ายให้กับเกษตรกร โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นคนกลางในการจัดจำหน่าย เริ่มจำหน่าย 18 เม.ย.ถึงสิ้นเดือน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนี้ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่รอซื้อปุ๋ยพาณิชย์ราคาถูก ไม่สามารถซื้อได้ในราคาถูกจริง และจนถึงขณะนี้ปุ๋ยพาณิชย์ก็ยังไม่ถึงมือเกษตรกร
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--