บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนใช้ E-Bus E-Truck พร้อมดึงลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 21, 2024 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนใช้ E-Bus E-Truck พร้อมดึงลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในไทย

บอร์ดอีวี เคาะ 2 มาตรการสำคัญ สนับสนุนการใช้อีวีเชิงพาณิชย์ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) พร้อมออกแพ็กเกจสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอีวีไทย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางอีวีอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้ (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ

โดยมาตรการดังกล่าว จะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้ จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

"การที่บอร์ดอีวี ได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท" นายนฤตม์ กล่าว
*ออกแพ็กเกจสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ บอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบมาตรการสงเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระตับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้

1. ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

2. ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลส์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้

3. ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

4. ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเวลาลงทุนภายในปี 2570

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแช่งขันของประเทศฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป

"แบตเตอรี่ ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี ปัจจุบัน มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็คในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอีวีไทย แต่ยังช่วยต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงาน สะอาดในการดำเนินธุรกิจ" นายนฤตม์ กล่าว

*ขยายขอบเขตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3.5

พร้อมกันนี้ บอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิ ให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

นายนฤตม์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ สามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 ตันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อนหน้า นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี 18 โครงการ เงินลงทุน 40,004 ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ เงินลงทุน 848 ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวี และ ESS จำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 23,904 ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ เงินลงทุน 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ เงินลงทุน 4,205 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ