ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 7 ก.พ. 67 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี
คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (neutral interest rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยเห็นว่า
(1) เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลง และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
(2) การลดอัตราดอกเบี้ย จะเพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก ในบริบทที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และ ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ policy space ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า
(3) ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจมีนัยต่อ neutral interest rate ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบดังกล่าวประเมินว่ามีไม่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความชัดเจนที่มากขึ้น
(4) ต้นทุนของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป คือการกระตุ้นการสร้างหนี้ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันอยู่ในที่ระดับสูงมากอยู่แล้ว และอาจทำให้กระบวนการลดหนี้ (deleveraging) ที่กำลังคืบหน้าหยุดชะงัก นอกจากนี้ อาจเพิ่มพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงมากขึ้น (search for yield) ลดทอนแรงจูงใจในการพัฒนาด้านศักยภาพการผลิต ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี กรรมการฯ มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากพัฒนาการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปี 2567 จากการชะลอลงในภาคการส่งออก และการผลิต โดยเป็นผลจากอุปสงค์โลกและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์หลัก ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้
ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่บริษัทที่มีขนาดเล็กและกำไรต่ำ รวมถึงครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อสำหรับ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า
คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลง เป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจ และปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงในช่วงปลายของปี 2566 โดยหลักมาจาก
(1) ภาคการส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ชะลอลง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าโลกและคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวช้า ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย โดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกและการผลิต
(2) รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับต่ำลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีวันพักเฉลี่ยน้อยลง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่อทริปลดลง
(3) การลงทุนภาครัฐที่ลดลงมากเป็นพิเศษในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า
อย่างไรก็ดี ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
(1) การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น และ (2) ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเครื่องชี้ความต้องการท่องเที่ยวในไทยที่อยู่ในทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน
ในขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิต มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์สินค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและผลประโยชน์จากการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่น้อยลง นอกจากนี้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านความสามารถการแข่งขันในภาคการส่งออกจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น และลดทอนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญจากเศรษฐกิจโลกที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงผลดีจากการฟื้นตัวของ การค้าโลกต่อภาคการส่งออกของไทย ที่อาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้จากปัญหาเชิงโครงสร้าง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในระยะสั้นจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทาน อาทิ (1) ราคาอาหารสดที่ปรับลดลงจากสินค้าบางรายการมีผลิตผลออกสู่ตลาดมาก อาทิ เนื้อสุกร และผัก และ (2) ราคาพลังงานที่ปรับลดลงจากการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มทรงตัวในระดับใกล้เคียงเดิม สอดคล้องกับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่ทรงตัว
ทั้งนี้ ต้องติดตามความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ส่วนประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ มีการอภิปราย ได้แก่
- ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการส่งออกและภาคการผลิตมาเป็นเวลานาน ส่งผลชัดเจนขึ้นต่อเศรษฐกิจ
- การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า มีความท้าทายมากขึ้น
- อุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงประมาณการ
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ ไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ
- ภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
- เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสม
- ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็กและกำไรต่ำ หรือครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน