นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 86,716 คัน ลดลงจาก 3.97% จากเดือนธ.ค. 66 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.08% เพราะส่งออกได้เพียง 91.17% ของยอดผลิตเพื่อส่งออก เพราะเรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ ขณะที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 79,633.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.25% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
ยอดการผลิตในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 142,102 คัน ลดลง 12.16% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงเหลือ 33.62% จากการผลิตรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 50.89% ตามยอดขายที่ลดลง และผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 14.68% จากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่มียอดจดทะเบียนเดือน ม.ค.67 จำนวน 13,314 คัน ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีเพียง 652 คัน แต่เพิ่มขึ้น 11.96% จากเดือน ธ.ค.66
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศของเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 54,814 คัน ลดลง 16.42% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยรถกระบะมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึง 43.47% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูงมาก รถ PPV มียอดขายลดลง 43.86% เพราะยังไม่มีรุ่นใหม่ออกมา ประกอบกับมีรถ SUV แบบ Hybrid ออกใหม่ในราคาจับต้องได้มาเอาส่วนแบ่งตลาดไป และรถบรรทุกขายลดลง 32.01% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปหลายเดือน ทำให้การลงทุน การใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปไปด้วย ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2566
"รอดูยอดเดือนนี้ด้วยความกังวลเรื่องที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อบนความรับผิดชอบ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งยอดขายรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์...โดยปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธให้สินเชื่อของสถาบันการเงินสูงถึง 50% ทำให้ยอดขายลดลง 30-40%" นายสุรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนปี 67 ได้ในช่วงเดือน พ.ค.67 เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับที่มีการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ลดลง
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ กล่าวว่า ความนิยมในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการจดทะเบียน 50,000-100,000 คัน ตามอัตราการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า 1:1 ที่มีจำนวน 8-9 หมื่นคัน
โดยในเดือนม.ค. 67 มียานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงจดทะเบียนใหม่ ประกอบด้วย
ประเภท BEV มีจำนวน 15,943 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง จำนวน 13,322 คัน
- รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน จำนวน 242 คัน
- รถยนต์บริการธุรกิจ จำนวน 1 คัน
- รถยนต์บริการทัศนาจร จำนวน 9 คัน
- รถกระบะ/รถแวน จำนวน 86 คัน
- รถยนต์สามล้อรับจ้าง จำนวน 2 คัน
- รถจักรยานยนต์ จำนวน 2,253 คัน
- รถโดยสาร จำนวน 21 คัน
- รถบรรทุก จำนวน 7 คัน
ประเภท HEV มีจำนวน 14,143 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง จำนวน 14,097 คัน
- รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน จำนวน 1 คัน
- รถยนต์บริการธุรกิจ จำนวน 6 คัน
- รถยนต์บริการทัศนาจร จำนวน 15 คัน
- รถจักรยานยนต์ จำนวน 24 คัน
ประเภท PHEV จำนวน 940 คัน
- รถยนต์นั่ง จำนวน 940 คัน