ฉายแววสดใส! ส่งออก ม.ค.โต 10% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 23, 2024 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฉายแววสดใส! ส่งออก ม.ค.โต 10% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยของไทย เดือนม.ค.67 การส่งออก มีมูลค่า 22,649 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงกว่าตลาดคาด 8.8% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,407 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนม.ค. ไทยขาดดุลการค้า 2,757 ล้านเหรียญสหรัฐ

"ส่งออกไทยเดือนม.ค. ที่ขยายตัวถึง 10% นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ มิ.ย.65" นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ฉายแววสดใส! ส่งออก ม.ค.โต 10% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน

หากพิจารณาการส่งออกในรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ดังนี้

  • กลุ่มสินค้าเกษตร ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 14% ที่มูลค่า 2,070 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว, ผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 3.8% ที่มูลค่า 1,643 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผักกระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, เครื่องดื่ม, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป
  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 10.3% ที่มูลค่า 18,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง
ฉายแววสดใส! ส่งออก ม.ค.โต 10% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก ที่ขยายตัวได้ดีในเดือนม.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 ฮ่องกง ขยายตัว 72% อันดับ 2 กลุ่ม CIS ขยายตัว 64.6% อันดับ 3 ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 27.2% อันดับ 4 อาเซียน (5) ขยายตัว 18.1% อันดับ 5 CLMV ขยายตัว 16.6% อันดับ 6 สหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% อันดับ 7 แคนาดา ขยายตัว 11.8% อันดับ 8 ไต้หวัน ขยายตัว 5.3% อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 5.1% และอันดับ 10 สหภาพยุโรป ขยายตัว 4.5%

นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือนม.ค.67 ขยายตัวดี มาจากภาคการผลิตโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรสำคัญของไทย ได้รับอานิสงส์ด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามวัฎจักรสินค้า

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ ได้แก่ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีเหตุการณ์โจมตีเรือสินค้าบริเวณทะเลแดง รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการซื้อ ยังมีความไม่แน่นอน และฟื้นตัวไม่พร้อมกันในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนได้มีการผลักดันการส่งออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการผลักดันส่งออกสินค้า รายรัฐ หรือรายมณฑล ในตลาดส่งออกใหญ่ที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสำคัญ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

*แนวโน้มส่งออกสัญญาณดี

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไทยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย โดยคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกไทยน่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ ขณะที่ทั้งปี 67 กระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกที่ 1-2%

"ส่งออกไตรมาสแรก มองว่าน่าจะยังเป็นบวก หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเพิ่มมากกว่านี้ (การสู้รบ และเหตุการณ์ในทะเลแดงไม่ขยายวง) โมเมนตัมมากส่งออกเริ่มกลับมา...ดูจากแนวโน้มแล้ว การส่งออกของหลายประเทศก็เริ่มกลับมา เห็นสัญญาณที่ดี" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

*ปัญหาขนส่ง-ค่าระวางผ่อนคลาย

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาติดขัดเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ได้เริ่มลดลง หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ค่าระวางเรือจากที่เคยปรับขึ้นไป 4-5 เท่า ลดลงมาเหลือ 2-3 เท่าจากระดับปกติ ซึ่งช่วยผ่อนคลายต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลงได้ในระดับหนึ่ง และหากสถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 เดือนนี้

"ตอนนี้บางสายเรือ ก็ยังไปได้ ทั้ง Cosco, Evergreen และ Maersk ไม่ได้หยุดชะงัก ค่อนข้างสบายใจได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าเหตุการณ์ในทะเลแดงไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ คาดว่าจะเข้าภาวะปกติใน 1-2 เดือน" นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลง เนื่องจากในช่วงต้นเดือนม.ค. ประเทศจีนต้องเร่งส่งออกในช่วงก่อนตรุษจีนเดือนก.พ. จึงทำให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์มีสูงมาก ประกอบกับปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง จึงทำให้ค่าระวางเรือในช่วงนั้นพุ่งขึ้นไป 5-6 เท่าตัว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ค่าระวางเรือเริ่มลดลงสู่ระดับที่ควรจะเป็น

"ช่วงนั้นจีนเร่งส่งออก จึงต้องการตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมาก demand มากกว่า supply ทำให้ค่าระวางพุ่งไป 5-6 เท่า จากราคาปกติในการส่งสินค้าไปยุโรป ถ้าเป็นตู้สั้น 1,100 ดอลลาร์ พุ่งขึ้นไปถึง 4,000-5,000 ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ ลงมาเหลือ 2,500 ดอลลาร์แล้ว" ประธาน สรท.ระบุ

อย่างไรก็ดี ทาง สรท. จะติดตามปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ คือ สถานการณ์ของจีนภายหลังจากเปิดประเทศ และภาคการผลิตหลังผ่านช่วงตรุษจีนไปแล้ว รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ที่ขณะนี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ