เตรียมจ่ายเพิ่ม! พาณิชย์ อนุมัติผู้ผลิตนมกว่า 10 ราย ปรับขึ้นราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 23, 2024 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เตรียมจ่ายเพิ่ม! พาณิชย์ อนุมัติผู้ผลิตนมกว่า 10 ราย ปรับขึ้นราคา

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมว่า ล่าสุด ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการกว่า 10 รายปรับขึ้นราคาขายแล้ว โดยนมสดยูเอชที, พาสเจอร์ไรซ์ และสเตอริไรซ์ ขนาด 180, 220 และ 225 มิลลิลิตร (มล.) ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นประมาณ 50 สตางค์/กล่อง,ขวด ส่วนขนาดใหญ่กว่านี้ เช่น 1 ลิตร (1,000 มล.) ปรับขึ้น 2.50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำนมดิบ ที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีมติให้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อีก กก.ละ 2.25 บาท จากเดิมกก.ละ 20.50 บาท เป็น 22.75 บาท โดยยังมีอีกกว่า 10 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา

"กรมฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และห้างร้านต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ที่ผู้ผลิตได้รับการอนุมัติจากกรมฯ ก่อนที่จะปรับขึ้นราคาจำหน่าย และให้ปรับขึ้นตามราคาที่ได้รับการอนุมัติ ห้ามปรับขึ้นเกินกว่าราคาที่ได้รับการอนุมัติ" ร.ต.จักรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบราคาจำหน่ายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ห้างค้าส่งค้าปลีก ยังจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม เพราะยังเป็นสต็อกเก่าที่ผลิตจากน้ำนมดิบที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นราคา แต่คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นราคาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะปรับขึ้นไม่พร้อมกัน และไม่เท่ากัน เพราะแต่ละรายได้รับการอนุมัติปรับราคาไม่พร้อมกัน

ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์การค้า และการจำหน่ายในช่วงนี้ทุกวัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่ามีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนหรือไม่ หากพบว่ารายใดจำหน่ายไม่สอดคล้องกับต้นทุน จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบเห็นหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจาการซื้อสินค้าและบริการ ให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมฯ โทร 1569

สำหรับนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต จัดเป็นสินค้าทางเลือก ไม่ต้องขออนุญาตปรับขึ้นราคา โดยจากการตรวจสอบสถานการณ์ราคา พบว่ายังจำหน่ายราคาเดิม ไม่มีการปรับขึ้น ขณะที่นมข้นหวาน นมสด ที่ไม่ได้ใช่น้ำนมดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่มีการปรับขึ้นราคาเช่นกัน

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาให้ปรับขึ้นราคานั้น ร.ต.จักรา กล่าวว่า กรมฯ ได้อนุญาตให้ปรับขึ้น เฉพาะในส่วนของต้นทุนน้ำนมดิบที่เพิ่มเท่านั้น ไม่รวมต้นทุนอื่น เช่น ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง แม้ผู้ประกอบการจะขอมาก็ตาม เพราะเป้าหมายของกรมฯ คือ ต้องการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับผลกระทบจากขึ้นราคาให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และเกษตรกรได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ