นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม สามารถรองรับความสนใจที่หลากหลายของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากการจัดกิจกรรมจะส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรม และนำมาซึ่งการประชาสัมพันธ์ Soft Power ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและภาครัฐในการสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้าง Soft Power ไทย ให้สามารถต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ อีกด้วย
การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม (Event Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่มีพื้นที่กิจกรรมเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวกันของชุมชนที่มีความสนใจเดียวกัน ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชน รวมไปถึงบริเวณโดยรอบ ขนาดกิจกรรมมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมในต่างประเทศ แต่ละกิจกรรมจะมีลักษณะเฉพาะของเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สำหรับประเภทของกิจกรรม อาทิ งานแสดงดนตรี/คอนเสิร์ต งานเทศกาล การแข่งขันกีฬา การประชุม กิจกรรมองค์กร และงานแสดงสินค้า (MICE)
ทั้งนี้ จากรายงาน Event Tourism Market Outlook from 2024 to 2034 โดยบริษัทวิจัยตลาด Future Market Insights (FMI) ในปี 2566 มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมทั่วโลก อยู่ที่ 1.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.1% คาดว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมทั่วโลกในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความต้องการในการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมทั่วโลก คาดว่าในช่วง 10 ปี (ปี 2567-2577) จะเติบโต 4.3% ต่อปี และจะมีมูลค่าสูงถึง 2.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2577 โดยมีปัจจัยมาจากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับชุมชนที่ตนมีความสนใจ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความชื่นชอบระหว่างกัน
ปัจจุบันหลายประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม โดยมีแนวทางการจัดกิจกรรมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความสนใจใหม่ ๆ ของผู้บริโภค รวมทั้งใช้การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ในการเผยแพร่วัฒนธรรมให้แพร่หลาย อาทิ
- เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่โด่งดังในเรื่องการเผยแพร่ Soft Power จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในปี 2566 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้กำหนดนโยบายให้ปี 2566 เป็น "ปีแห่งการมาเยือนเกาหลี" โดยมีความมุ่งมั่นให้เกาหลีใต้การไปสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยว ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลี (K-Culture) ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว สนับสนุนภาคธุรกิจผ่านการจัดมหกรรม K-Expo รวมถึงนำยุทธศาสตร์สำคัญอย่าง Soft Power มาช่วยขับเคลื่อนประเทศ ส่งผ่านกระแสเกาหลี (K-Wave) ไปยังทุกภาคส่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
- ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในปี 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้พัฒนาแผนการส่งเสริมวัฒนธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันวัฒนธรรม หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชน จัดมหกรรม "Japan Cultural Expo 2.0" ซึ่งจะจัดกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดทั้งปีโดยใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยครั้งนี้ได้นำเสนอในรูปแบบของ "Japan Beauty" เผยแพร่ความงดงามของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วประเทศผ่านนิทรรศการ การแสดง และเทศกาลศิลปะ เพื่อดึงดูดผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีความโดดเด่นทางธุรกิจและการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬา ในปี 2566 รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำโครงการ "Singapore Sports Hub" โดยมีความมุ่งมั่นให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาของเอเชีย ซึ่งสิงคโปร์มีการจัด "Singapore Grand Prix" เป็นการแข่งขันกีฬาระดับโลก อย่างการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน นับตั้งแต่ปี 2551 การแข่งขัน Singapore Grand Prix สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเข้าร่วมกิจกรรมได้มากถึง 130 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี และสามารถดึงดูดผู้เข้าชมจากต่างประเทศได้มากกว่า 5.5 แสนคนต่อปี
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวที่สามารถต่อยอดได้ โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนทั้งสิ้น 28.04 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 151% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 100% จากตัวเลขการท่องเที่ยวที่เติบโต แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเลือกเป็นจุดหมายปลายทาง
ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทยมีการเติบโตในปี 2566 โดยธุรกิจที่มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ อาทิ การบริการอาหาร/เครื่องดื่ม ที่พักแรมระยะสั้น การจัดการประชุมและการแสดงสินค้า กิจกรรมด้านการกีฬา ความบันเทิง และนันทนาการ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังมีจุดแข็งด้านวัฒนธรรมและประเพณี ที่สามารถต่อยอดและผสมผสานไปกับการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน งานแสดงสินค้าโอท็อป การแข่งขันกีฬามวยไทย เป็นต้น
"ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม จึงเป็นอีกหนี่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ควรส่งเสริม เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการแต่ละชุมชนได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจการจัดงาน (Event Business) และเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ Soft Powerของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น"
ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีแนวทางในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ดังนี้
1. พิจารณาจัดการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม 1 งาน 1 จังหวัด เพื่อชูเอกลักษณ์และนำเสนอจุดเด่นของแต่ละจังหวัด
2. บูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับภูมิภาค ทั้งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
3. จัดอบรมให้ผู้ประกอบการไทยในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมาวางแผนในการทำธุรกิจ
4. ปรับปรุง/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง อาทิ ถนน รถไฟฟ้า ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชน ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดให้เดินทางสะดวก สามารถเข้าถึงกิจกรรมตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น
5. จัดให้มีมาตรการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนผู้ร่วมงานอย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน ตลอดจนมีมาตรการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อยากให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่มีบทบาทสำคัญมากในด้านการท่องเที่ยวเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ตลอดจนปรับตัวและปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับแนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภค ดังนี้
1. ศึกษาแนวโน้มโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมาวางแผนในการทำธุรกิจ และร่วมมือกันระหว่างสาขา เช่น ท่องเที่ยว อาหาร การแสดง การกีฬา ในการจัดกิจกรรมให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และจัดทำกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด
2. คงคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจบริการของไทย โดยเฉพาะธุรกิจการจัดงานให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการ
3. พัฒนาทักษะแรงงานในธุรกิจนั้น ๆ ให้มีความเชี่ยวชาญสูงขึ้น
4. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาให้การจัดกิจกรรมมีความทันสมัย และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค