Krungthai COMPASS คาดมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 มีโอกาสพลิกกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ ทั้งนี้ จากการที่ส่งออกเดือนม.ค. เติบโต 10% สูงสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ได้บ่งชี้ถึงการกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งมูลค่าการส่งออกในเดือนม.ค. ทยอยปรับตัวดีขึ้น และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่การส่งออกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การส่งออกคอมพิวเตอร์ของไทยที่เติบโตถึง 32.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนบทบาทของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ที่หนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งภาวะขาขึ้นของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลกมีสัญญาณดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในเดือนม.ค.67 ของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ได้กลับมาขยายตัว และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก.ย.65 อีกทั้ง การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบ-กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งส่วนหนึ่ง ถูกนำมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทย ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะข้างหน้าได้ เช่น การรีเซ็ตเศรษฐกิจจากภาวะการเงินตึงตัว ที่อาจกระทบกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า การรีเซ็ตเทรนด์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับความรุนแรง และความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย รวมทั้งสงครามการค้ารอบใหม่กับจีน อาจเป็นการรีเซ็ตเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลกใหม่ ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป
อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนม.ค.67 พบว่า มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 10% (YoY) สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.65 เติบโตเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.66) ที่ 4.7% โดยการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมต่างขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักต่างขยายตัว ด้านการนำเข้า พลิกมาโตได้ที่ 2.6% (YoY) แต่กลับมาขาดดุลการค้า ที่ 2,757.9 ล้านดอลลาร์ฯ