ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบสกุลเงินหลักๆ หลัง FED ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 8, 2008 06:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 พ.ค.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากมีรายงานว่าหลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแคนซัสซิตี้กล่าวว่า เฟดต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินยูโรอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.5405 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.5530 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9535 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9733 ดอลลาร์/ปอนด์
เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังค์สวิส ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นแตะระดับ 104.76 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 104.74 เยน/ดอลลาร์ และแข็งขึ้นแตะระดับ 1.0546 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0519 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.7817 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7895 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงจากระดับ 0.9423 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9494 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นหลังจากนายโธมัส โฮนิก ผู้ว่าการเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ "รุนแรง" ในขณะนี้ อาจทำให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
"เราพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมาก ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็แสดงความวิตกกังวลเรื่องเฟ้ออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970"
"เฟดจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อยับยั้งเศรษฐกิจถดถอย ภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอย ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย" โฮนิกกล่าว
นอกจากนี้ นายโฮนิกกล่าวว่า "อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำพอแล้ว ประกอบกับสภาคองเกรสได้ผ่านร่างมาตรการลดหย่อนภาษีและการคืนภาษี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะมากพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผ่อนปรนด้านอื่นๆที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้ และผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เฟดจะยุติการใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงิน"
ส่วนอีกปัจจัยที่หนุนดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นมาจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ว่า ประสิทธิภาพการผลิตในไตรมาสแรกของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ต้นทุนแรงงานปรับตัวลดลง
นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะมีขึ้นในเย็นวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ