ดัชนี MPI ม.ค.หดตัว 2.94%YoY รับเศรษฐกิจในประเทศฟื้นช้า-ศก.คู่ค้าชะลอ-หนี้ครัวเรือนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 29, 2024 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนี MPI ม.ค.หดตัว 2.94%YoY รับเศรษฐกิจในประเทศฟื้นช้า-ศก.คู่ค้าชะลอ-หนี้ครัวเรือนสูง

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% (YOY) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนม.ค. 67 อยู่ที่ 59.43%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนี MPI เดือนม.ค. 67 หดตัวจากปัจจัยสำคัญ ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนม.ค. 67 การผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 6 โดยหดตัวทั้งจากภายในประเทศและการส่งออก ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงิน และภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ดัชนี MPI ม.ค.หดตัว 2.94%YoY รับเศรษฐกิจในประเทศฟื้นช้า-ศก.คู่ค้าชะลอ-หนี้ครัวเรือนสูง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ยังคงประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลกระทบจากการเปิดประเทศช้า ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี 67 ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์การแปรรูปสินค้าเกษตร

ในส่วนของปัจจัยบวก มาจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเดือนม.ค. 67 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 3.04 ล้านคน ขยายตัว 41.51% ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน อีกทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือนม.ค. 67 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 66

"เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางส่วนชะลอการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เดือนม.ค. ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น" นางวรวรรณ กล่าว

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก ได้แก่

  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.16% จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก โดยความต้องการบริโภคขยายตัวหลังสภาพอากาศร้อนขึ้น รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
  • ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 58.68% เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น รวมถึงได้แหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยจากหลายประเทศทำให้มีวัตถุดิบสำหรับผลิตมากขึ้น
  • เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.00% โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักสำคัญอย่างฮ่องกงและอังกฤษ รวมถึงฐานต่ำในปีก่อน

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่

  • ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.63% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก โดยชะลอตัวทั้งตลาดในประเทศตามภาวะเศรษฐกิจ สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อหลังปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงการผ่อนชำระหนี้มีปัญหาค้างชำระมากขึ้น และตลาดส่งออกจากปัญหาเรือขนส่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้ยอดส่งออกไปตลาดเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือทำได้ไม่เต็มที่
  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.45% จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เป็นหลัก จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตบางราย และส่งผลให้มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันในประเทศลดลงด้วย
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.71% ตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์และปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ยังได้ปัจจัยบวกการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปสู่ edge computing
*MPI เดือนก.พ. ยังหดตัวต่อ แต่สัญญาณเฝ้าระวังเริ่มลดลง

สำหรับดัชนี MPI ในเดือน ก.พ. คาดว่าจะยังหดตัวต่อ แต่ดีขึ้นจากเดือนม.ค. เนื่องจากระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนก.พ. 67 เริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวในระยะนี้

"ต้องจับตามองปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและจะฉุดรั้งให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ปัญหาด้านดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อที่อาจกดดันให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ จำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูงทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร" นางวรวรรณ กล่าว
*คาด MPI-GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 67 ดีกว่าปีก่อน โต 2-3%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม MPI และ GDP สาขาอุตสาหกรรม ในปี 66 MPI หดตัว 3.78% (จากเดิมที่หดตัว 5.11% เนื่องจากปรับปีฐานการคำนวณดัชนีอุตสาหกรรมจากปี 59 เป็นปี 64) ส่วน GDP อุตสาหกรรม หดตัว 3.2%

สำหรับปี 67 ยังคงคาดการณ์ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมว่าจะขยายตัวที่ 2-3% จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจและการค้าโลกทยอยฟื้นตัว, เงินเฟ้อในแต่ละประเทศชะลอการเร่งตัว, การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง, การลงทุนขยายตัวในเกณฑ์ดี, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจคู่ค้าหลักบางประเทศอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด, ดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูง, ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ, การเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ได้, ภาระหนี้สินภายในประเทศมีระดับสูง และปัญหาจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

นางวรวรรณ กล่าวว่า ในปี 67 นี้ สศอ. ได้มีการปรับปีฐานการคำนวณดัชนีอุตสาหกรรม ที่ใช้ในการคำนวณ MPI และ CapU จากเดิมที่ใช้ฐานของปี 59 เป็นฐานปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ