น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงเพิ่มเติมภายหลังจากที่วานนี้ (28 ก.พ.) ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ว่า ก่อนหน้านี้ ในปี 2565 ธปท.เคยออกหลักเกณฑ์สำหรับการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ในรูปแบบของ JVAMC เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพเฉพาะของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ยังไม่รวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
แต่เนื่องจากระยะหลัง คือ ในปี 2565-2566 พบว่า ลูกหนี้ด้อยคุณภาพของ SFI เริ่มมีมากขึ้น โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่า บัญชีลูกหนี้ NPL (รหัส 21) มีสัดส่วนอยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากถึง 70% ที่เหลืออยู่ใน Non Bank 20% และอีก 10% อยู่กับธนาคารพาณิชย์
ดังนั้น จึงทำให้ ธปท. ได้ออกมาตรการชั่วคราวดังกล่าวขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้ SFI ร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการจัดตั้ง JVAMC เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยเป็นการรับซื้อ-รับโอน ลูกหนี้ NPL ทั้งรายย่อย และ SME จาก SFI ที่มีมูลหนี้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท โดยช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้สามารถจัดการปัญหาหนี้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระยะต่อไปได้ ซึ่งจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า การจัดตั้ง JVAMC ระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์นี้ เบื้องต้นจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 25 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้นจะต้องใกล้เคียงกัน คือ 50:50 หรือ 49:51 ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้สิทธิหรือมีอำนาจเหนือกว่ากัน โดย SFI และ AMC ที่สนใจจะร่วมกันจัดตั้ง JVAMC สามารถมายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งได้ภายในสิ้นปี 2567 และจะต้องดำเนินการเคลียร์สินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แล้วเสร็จภายใน 15 ปี
"รูปแบบจะเป็นการรับซื้อ NPL หรือ NPA ที่เป็นลูกหนี้รายย่อย และ SME จากแบงก์รัฐเท่านั้น โดย SME ต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และต้องเคลียร์ทรัพย์สินที่ซื้อมาให้จบภายใน 15 ปี โดยให้มายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งภายใน 31 ธ.ค.67 ล่าสุดก็มี 1 รายแล้วที่เข้ามาคุยอย่างเป็นทางการ...คาดว่าน่าจะเห็นแนวโน้ม NPL ของแบงก์รัฐ ลดลงได้ในระยะต่อไป" น.ส.สุวรรณี ระบุ