การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าออกมาใช้งานแทนยานยนต์สันดาป ส่งผลกระทบให้ยอดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในปีนี้ขยายตัวในทิศทางที่มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 66 มีมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% แต่ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% ขณะที่มีผู้ประกอบการในประเทศ 2.4 พันราย
"ออเดอร์เริ่มหดหายไป แต่ผลกระทบยังไม่เยอะ ปีนี้คาดว่ายังโตกว่าปีก่อน 1-2%" นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าว
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้ผลกระทบรุนแรงโดยตรงราว 90% คือผู้ผลิตอะไหล่เครื่องยนต์สันดาป ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ผลิตเบาะรถยนต์ก็ไปผลิตเก้าอี้โดยสารบนเครื่องบินและระบบราง แต่ในบางผลิตภัณฑ์ยังพบปัญหาไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานเกราะขายให้กับกองทัพ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์เพื่อทดแทนนำเข้า
ปัจจุบัน มีปริมาณยานยนต์สันดาปที่ใช้อยู่ทั่วโลก 2,016 ล้านคัน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปจะยังมีอยู่ต่อไปอีก 18 ปี เนื่องจากการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถเข้ามาใช้งานทดแทนยานยนต์สันดาปได้ทั้งหมด โดยเฉพาะรถกระบะ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดตลาดชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปเพิ่มเติม
ขณะที่การนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรก ยังไม่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ภาคเอกชนจึงอยากเสนอให้ภาครัฐกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนด้วย ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอแผนงานรองรับผลกระทบ 3 ระยะให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว