นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายด้านตลาดทุนที่สำคัญของก.ล.ต. คือการสนับสนุนให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงเงินทุนในตลาดทุนได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs กลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจภายใต้โมเดล BCG (Bio-Circular-Green) และกลุ่มอุตสากรรมเป้าหมายแห่งอนาคต New S-Curve
ก.ล.ต. จึงได้มีการออกเกณฑ์เพื่อให้สามารถระดมทุนในตลาดทุน ผ่านช่องทาง Cloud Funding และช่องทางการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ PP-SMEs โดยมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสองช่องทาง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 66 ที่ผ่านมา มีมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงมีการปรับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด เพื่อเป็นการส่งเสริมการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สำนักงานได้จัดทำหลักเกณฑ์รองรับเครื่องทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน หรือ Sustainable Theme Bonds โดยยอดเงินระดมทุน ณ สิ้นเดือนมกราคม 67 มีมูลค่ารวมมากกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกเกณฑ์ผลิตภัณฑ์อื่น เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการระดมทุนและการตอบโจทย์การลงทุนต่อไป
รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนผนวกแนวคิดเรื่อง ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้ตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยรวมของคนในประเทศเพื่อที่ทุกคนจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเกิดจากการพัฒนาของที่มีปัญหา จากการพัฒนาที่ภาคอุตสาหกรรมก่อน หรือที่เมืองใหญ่เพื่อให้ความเจริญที่สร้างขึ้นมาไหลจากบนลงล่าง แต่สุดท้ายทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม และนำไปสู่ปัญหาชุมชนแออันในเมือง
"ความเหลื่อมล้ำเป็นเหมือนมะเร็งร้ายของสังคม ที่จะค่อย ๆ สะสมพลัง ถ้าจัดการตั้งแต่ต้นจะรักษาได้ ถ้าไม่ช่วยกันวันนี้ จะเป็นปัญหาในอนาคต ยิ่งต่อไปเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาที่เรามีวันนี้ก็ยิ่งเท่าทวีคูณ การออกจากปัญหาก็จะยากขึ้น"
การที่ได้ทำงานทั้งภาคส่วนตลาดทุน ภาคธุรกิจ และงานชุมชนมาตลอดหลายปี ทำให้ทราบดีว่า ทางภาคส่วนตลาดทุนและภาคธุรกิจ ไม่เคยหยุดนิ่งในการผนวกกิจกรรมด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์และแผนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพิ่มเติมจากการทำงานด้าน Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แต่การหาชุมชนที่จะสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร และในขณะเดียวกัน การที่ชุมชนหนึ่งจะสามารถพัฒนาผู้นำที่ดีเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งได้นั้น เงินทุนสนับสนุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราได้นำทั้งสองภาคส่วนมาเจอกัน ได้ทำความรู้จักกัน และอาจเกิดความร่วมมือกันผ่านมาตรการของ BOI ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง
"งานวันนี้เป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ ที่เราทำให้ ภาคตลาดทุนและธุรกิจได้พบกับชุมชนและสังคม ผ่านทางความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้ง 9 หน่วยงาน แรงผลักดันจากงานวันนี้จะยังคงเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนในอนาคต" กอบศักดิ์กล่าว
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งภาคธุรกิจและสังคม ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชน ประสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ
รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้การสนับสนุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อันจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย ชุมชน และหน่วยงานเพื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 50 ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market ?Work? for Everyone" พร้อมส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นพื้นที่สำหรับอนาคตของทุกคน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า จากกระแสของโลกและกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป เมื่อมาประกอบกับจุดแข็งของประเทศไทยแล้ว บีโอไอจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว หรือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยบีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่ (1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน อันจะช่วยสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศโดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของลงทุนที่ภาคเอกชนสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพมีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมให้มากยิ่งขึ้น