นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนน้อยลง แต่ศักยภาพของเศรษฐกิจกลับลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ มองว่าไทยยังมีช่องว่างทางการคลัง สามารถใช้เงินกู้เพื่อการลงทุนยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจให้สูงขึ้น และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างฐานรายได้ และขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ ต่อต้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้
โดยผลการศึกษาเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่ พบว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบ Countercyclical มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค กล่าวคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบ Countercyclical ในระดับที่สูง ส่งผลให้ความผันผวนของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง การศึกษาของ Ramey ในปี 1995 ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กับอัตราความผันผวนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า ประเทศที่มีความผันผวนของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
การเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Space) โดยการปรับปรุงนโยบาย และพัฒนาโครงสร้างภาษีทั้งระบบมีความสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ฐานะทางการคลังมีความแข็งแกร่ง เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เงินบาทโดยเฉลี่ยแข็งค่าสูงกว่าเพื่อนบ้านในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันราคาสินค้าส่งออกด้อยลง ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้น้อยกว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่ากว่าทุกสกุลคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ยประมาณ 15-40% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่เข้าจีนน้อยลง และเริ่มไหลออกจากจีน จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและสงครามทางการค้า การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติในจีนปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 30 ปี การลงทุนโดยตรง FDI ในจีนได้ย้ายไปเวียดนาม (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา FDI เพิ่มขึ้น 44%) ไปอินเดีย ไปอินโดนีเซีย มากกว่ามาที่ประเทศไทย (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา FDI ลดลง 20-21%) เป็นโจทย์ที่ไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ ว่าเป็นเพราะปัจจัยอะไร