ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งจากผู้เล่นระดับท้องถิ่น และผู้เล่นระดับโลก ที่ต้องการเข้ามาตั้งไทยเป็นฮับดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ต่อจำนวนประชากรในไทยเติบโตไปแล้วกว่า 54%
โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น (Digital Transformation) และการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลก ที่ต้องการลดการพึ่งพาฮับดาต้าเซ็นเตอร์เดิม อย่างสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเผชิญข้อจำกัดด้านพื้นที่ และความไม่เพียงพอของพลังงานไฟฟ้าซึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์
ทั้งนี้ หากเทียบขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยกับเพื่อนบ้าน พบว่า ไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีการขยายตัวสูงเป็นรองแค่มาเลเซีย ที่ขยายตัวถึง 88% ซึ่งมาเลเซีย ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีความได้เปรียบไทยในหลายด้าน ทั้งด้านอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต่ำกว่า จำนวนสายเคเบิ้ลใต้น้ำที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างภูมิภาคที่มากกว่า และสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นฐานของผู้ใช้บริการดิจิทัลที่มากกว่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้า ไทยน่าจะยังคงสามารถดึงดูดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์จากภาคธุรกิจไทยที่กำลังขยายตัว
2. ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยที่อยู่ในระดับสูงมากกว่า 30%
3. นโยบายส่งเสริมการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของภาครัฐ
ในช่วงปี 67-70 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยน่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ได้เป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นรองแค่มาเลเซีย ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยราว 3 เท่า ภายใต้กระแสการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผลักดันให้ไทยเป็นฮับแห่งหนึ่งของภูมิภาค น่าจะหนุนให้มูลค่าตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทย เติบโตก้าวกระโดดตามแนวโน้มความต้องการในตลาดอาเซียนที่กำลังขยายตัว
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่า 31.2% ต่อปี ขณะที่มาเลเซียน่าจะเติบโตราว 36.8% ในระยะ 4 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ จะครอบคลุมการให้บริการจัดเก็บและดูแลรักษาข้อมูล บริการระบบเครือข่าย และบริการประมวลผลข้อมูล